ลาดพร้าว 9 ส.ค.-ก.ยุติธรรม จัดงานประชุมการเสพติด ย้อนอดีตสู่อนาคต ปัญหาและทางออก หวังสร้างความเข้าใจ สิ่งเสพติด ไม่ใช่แค่ ยาเสพติด หลังงานวิจัยของหลายประเทศ พบการเสพติดพฤติกรรมเกิดการตอบสนองในสมอง ในรูปแบบเดียวกันกับการใช้ยาเสพติด ทั้งการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอลล์ การทานอาหาร การพนัน สื่อโซเชี่ยล ฯลฯ
กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) โดยโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดงานประชุม การเสพติด ย้อนอดีตสู่อนาคต:ปัญหาและทางออก โดยมีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน และพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า งานครั้งนี้ต้องการให้ทุกภาคส่วนกลับมาคิดและหาทางออกเพราะปัจจุบันคำว่าพฤติกรรมการเสพติด ของมนุษย์ไม่จำเป็นต้องเกิดจากยาเสพติดอย่างที่เคยเข้าใจกันมาเช่นในอดีต งานวิจัยของต่างประเทศหลายๆประเทศแสดงให้เห็นว่าการเสพติดพฤติกรรมทำให้เกิดการตอบสนองในสมองในรูปแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นหลังจากการใช้ยาเสพติด พฤติกรรมเสพติดที่ว่ามามีหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอลล์ การรับประทานอาหาร การพนัน สื่อโซเชี่ยล ความรัก เพศสัมพันธ์ การออกกำลังกาย การทำงาน การซื้อของ เป็นต้น
จากงานวิจัยพบว่าวิถีชีวิตสมัยใหม่นำไปสู่การเสพติดอย่างเลี่ยงไม่ได้ ลักษณะการเสพติด คือการกระทำอย่างหนึ่งซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่อาจหักห้ามใจได้แม้จะส่งผลเสียต่อชีวิตก็ตาม หากเสพมากเกินไปจะนำไปสู่การเกิดปัญหาต่าง ๆ ในสังคม และการกระทำผิดกฎหมาย ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ท้าทายการรับมือของประเทศไทย
หลังจากนั้น พล.อ.ไพบูลย์ ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ การเสพติด ย้อนอดีตสู่อนาคต : ปัญหาและทางออก โดยใจความตอนหนึ่ง กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ต้องทำอย่างไรให้คนไทยในสังคมเข้ลใจว่า สิ่งเสพติด ไม่ใช่ ยาเสพติด ต้องทำอย่างไรให้สังคมรับรู้และเข้าใจว่าปัญหาเสพติด ไม่ว่าจะติดยาเสพติด หรือติดอย่างอื่น เป็นเรื่องกระบวนการ และเป็นโรค ที่เกี่ยวข้องกับสมอง การแก้ไข ไม่ใช่แก้ด้วยกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จับเข้าคุกจนตอนนี้ประเทศไทยมีผู้ต้องขังกว่า 340,000 คน ติดอันดับประเทศต้นๆเรื่องคนล้นคุก ปัญหาการเสพติดต้องแก้ด้วยกระบวนการทางการแพทย์ จะเป็นการแก้ที่ต้นตอ อย่างยั่งยืน สมัยที่ตนเองรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้พยายามต่อสู้มานาน แต่ก็ยังไม่สามารถปรับทัศนคติของคนไนสังคมได้เลย
ปัญหาหลักของไทย คือผู้ติดยา มักต้องการเห็นผู้เสพ ถูกลงโทษด้วยกระบวนการอาญา ทั้งที่จริงเป็นสิ่งไม่ยั่งยืน การแก้ต้องอาศัยหลักสิทธิมนุษยชนมารองรับ และนำกระบวนการทางการแพทย์มารักษา ตอนที่ตนรับตำแหน่งเคยพูดเรื่องนี้แต่ก็ถูกสังคมต่อว่าต่างๆนาๆ แต่ก็ยังพยายามทำความเข้าใจกับสังคมเรื่อยมา จนกระทั่งได้ทำการออกประมวลกฎหมายยาเสพติดมา 7 ฉบับที่ได้หน่วยงานทางการแพทย์ การศึกษามาร่วมร่างหวังจะสร้างความเข้าใจในสังคม แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ประกาศใช้ ตนเองอยากฝากไปถึงกระทรวงยุติธรรม ขอให้ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจที่ถ่องแท้ ในเรื่องการเสพติด การแก้ปัญหามาร่วมผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม
ส่วนปัญหาคนล้นคุก จริงๆถ้าอยากแก้ไขไม่ใช่เรื่องยาก สามารถสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขกฎหมาย เอาคนออกได้เลย แต่ที่สำคัญที่ยังไม่ทำคือจะทำอย่างไรให้คนในสังคมยอมรับและเข้าใจว่าคนที่ติดคุกออกมาพวกเขาไม่ไช่อาชญากร หรือเป็นขยะสังคม
ส่วนตัวไม่เชื่อว่าประเทศไทยหรือโลกนี้จะเอาสิ่งเสพติดในรูปแบบต่างๆที่ว่าไม่ดี ออกไปจากโลกใบนี้ได้ แต่จะทำอย่างไรให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันกับผู้เสพติดได้และรับเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม ฝากหน่วยงานกระทรวงยุติธรรมนำไปปฎิบัติให้เกิด และเห็นเป็นรูปธรรมในอนาคต.-สำนักข่าวไทย