กรุงเทพฯ 8 ส.ค. – ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติสรุปสถานการณ์น้ำเขื่อนขนาดกลาง-ขนาดใหญ ชี้น้ำเกินเกณฑ์เฝ้าระวัง 4 เขื่อน
ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติสรุปสถานการณ์น้ำในเขื่อนที่มีปริมาตรน้ำมากที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มี 4 แห่ง คือ 1. เขื่อนแก่งกระจาน มีน้ำ 733 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 103 น้ำไหลเข้า 24.45 ล้าน ลบ.ม./วัน น้ำระบายออกรวม 16.82 ล้าน ลบ.ม. น้ำล้นทางระบายน้ำล้น (Spillway) สูง 52 ซม. ขณะนี้สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำยังอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ระดับน้ำท้ายเขื่อนที่สถานี B.3A อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ระดับน้ำ 3.54 ม. ระดับตลิ่ง 4.40 ม. เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 0.50 ม. แต่ยังต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.96 ม. ปริมาณน้ำไหลผ่าน 172.3 ลบ.ม./วินาที่ ซึ่งน้ำที่ล้นผ่านทางระบายน้ำล้นที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบให้มีน้ำท่วมพื้นที่ริม 2 ฝั่งลำน้ำบริเวณอำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง และอำเภอบ้านแหลม ก่อนที่จะไหลลงทะเลต่อไป
กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเร่งพร่องระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีและในระบบชลประทาน รวมถึงการพร่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำโดยกาลักน้ำ/เครื่องสูบน้ำ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยงที่อาจจะมีน้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่และชุมชน 31 เครื่อง (สำรอง 5 เครื่อง) ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำในจุดที่มีการระบายน้ำได้ช้า 38 เครื่อง (สำรอง 8 เครื่อง) เตรียมพร้อมยานพาหนะและเครื่องจักรกล เช่น รถขุดตัก 20 คัน ประจำในพื้นที่เพื่อขุดเปิดทางน้ำ ให้น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีไหลออกทะเลที่อำเภอบ้านแหลมได้เร็วที่สุด
2.เขื่อนน้ำอูน มีน้ำในอ่างเก็บน้ำ 534 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 103 น้ำไหลเข้า 1.21 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน มีปริมาณน้ำไหลออก 4.47 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน แนวโน้มจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างลดลง และจะเพิ่มการระบายน้ำเป็น 4.15 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำยังคงปกติ คาดว่าจะไม่มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่มีน้ำล้นตลิ่ง สำหรับการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานได้ควบคุมการระบายน้ำออกจากเขื่อน ซึ่งเดิมระบายวันละ 3.50 ล้าน ลบ.ม. ต่อมาเพิ่มการระบายน้ำโดยวิธีกาลักน้ำและเครื่องสูบน้ำเพิ่มปริมตรการระบายขึ้นอีก 600,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และประสานกับฝ่ายปกครองและ ปภ. จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดสกลนคร บึงกาฬ นครพนม ซึ่งลำน้ำอูนและลำน้ำสงคราม ไหลผ่าน
3.เขื่อนวชิราลงกรณ มีน้ำในอ่างเก็บน้ำ 7,495 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 85 ปริมาณน้ำไหลเข้า 70.01 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 40.98 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มไม่ล้นตลิ่ง แต่อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณรีสอร์ทที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อย การบริหารจัดการน้ำ เพิ่มการระบายน้ำเป็น 43 ล้าน ลบ.ม./วัน ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2561 และแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำแล้ว
4.เขื่อนศรีนครินทร์ มีน้ำในอ่างเก็บน้ำ 15,423 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 87 น้ำไหลเข้า 47.63 ล้าน ลบ.ม. ต่อวันมีน้ำไหลออก 20.30 ล้าน ลบ.ม. ต่อวันปริมาตรน้ำไหลเข้าอ่างมีแนวโน้มลดลง สำหรับสภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำนั้น น้ำที่ระบายเพิ่มไม่ล้นตลิ่ง แต่อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณรีสอร์ท ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อยการบริหารจัดการน้ำ เพิ่มการระบายน้ำเป็น 20 ล้าน ลบ.ม./วัน ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2561 ทั้งนี้ ได้แจ้งให้ประชาชนพื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำแล้ว.-สำนักข่าวไทย