กทม 23 ก.พ.-ปภ. มหาดไทย แจ้ง 52 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และน้ำท่วมขัง ช่วง 23-27 พ.ค.68 เร่งประสานพื้นที่เสี่ยงภัยเฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมรับมือ
กระทรวงมหาดไทย เผยแพร่ข้อความผ่าน Facebook กระทรวงมหาดไทย PR ระบุ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และน้ำท่วมขัง ในช่วงวันที่ 23-27 พ.ค. 68 โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่เสี่ยง และบริเวณที่มีฝนตกสะสม เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้สามารถเข้าเผชิญเหตุ และช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยขึ้น รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์ และวิธีการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศ และพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (121/2568) ลงวันที่ 21 พ.ค. 68 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 23 – 27 พ.ค. 68 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมจะพาดผ่านประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้มีประกาศฉบับที่ 5/2568 ลงวันที่ 20 พ.ค. 68 แจ้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และน้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมือง รวมถึงเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 23 – 27 พ.ค. 68 ดังนี้
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินโคลนถล่ม
ภาคเหนือ จำนวน 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอแม่ลาน้อย แม่สะเรียง และอำเภอสบเมย) เชียงใหม่ (อำเภอแม่อาย เชียงดาว พร้าว แม่แตง สะเมิง และอำเภออมก๋อย) เชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย แม่สาย ขุนตาล เชียงของ ดอยหลวง แม่จัน แม่ลาว และอำเภอเวียงป่าเป้า) ลำพูน (อำเภอเมืองลำพูน) ลำปาง (อำเภอเกาะคา และอำเภอสบปราบ) พะเยา (อำเภอปง) แพร่ (อำเภอลอง วังชิ้น และอำเภอสูงเม่น) น่าน (อำเภอเชียงกลาง ท่าวังผา ทุ่งช้าง บ่อเกลือ ปัว ภูเพียง แม่จริม เวียงสา และอำเภอสองแคว) อุตรดิตถ์ (อำเภอน้ำปาด และอำเภอบ้านโคก) ตาก (อำเภอท่าสองยาง พบพระ วังเจ้า และอำเภออุ้มผาง) สุโขทัย (อำเภอศรีสัชนาลัย และอำเภอสวรรคโลก) กำแพงเพชร (อำเภอลานกระบือ) พิษณุโลก (อำเภอชาติตระการ นครไทย และอำเภอบางระกำ) เพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มเก่า) และจังหวัดอุทัยธานี (อำเภอบ้านไร่)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 17 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย (อำเภอภูกระดึง ภูเรือ ภูหลวง และอำเภอวังสะพุง) หนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย และอำเภอโพนพิสัย) บึงกาฬ (อำเภอเซกา และอำเภอบึงโขงหลง) อุดรธานี (อำเภอบ้านผือ และอำเภอเพ็ญ) สกลนคร (อำเภอเมืองสกลนคร โคกศรีสุพรรณ เต่างอย โพนนาแก้ว ภูพาน และอำเภออากาศอำนวย) นครพนม (อำเภอนาแก นาทม นาหว้า บ้านแพง และอำเภอศรีสงคราม) ชัยภูมิ (อำเภอเมืองชัยภูมิ เกษตรสมบูรณ์ คอนสวรรค์ และอำเภอคอนสาร) ขอนแก่น (อำเภอบ้านแฮด ภูผาม่าน แวงน้อย และอำเภอแวงใหญ่) มหาสารคาม (อำเภอกุดรัง โกสุมพิสัย บรบือ พยัคฆภูมิพิสัย และอำเภอยางสีสุราช) กาฬสินธุ์ (อำเภอกุฉินารายณ์ ดอนจาน และอำเภอร่องคำ) มุกดาหาร (อำเภอเมืองมุกดาหาร ดงหลวง นิคมคำสร้อย และอำเภอหนองสูง) ร้อยเอ็ด (อำเภอพนมไพร โพธิ์ชัย โพนทอง เมยวดี สุวรรณภูมิ เสลภูมิ และอำเภอหนองพอก) ยโสธร (อำเภอเมืองยโสธร กุดชุม ค้อวัง ทรายมูล และอำเภอเลิงนกทา) อำนาจเจริญ (อำเภอเมืองอำนาจเจริญ ชานุมาน ปทุมราชวงศา พนา และอำเภอลืออำนาจ) นครราชสีมา (อำเภอปากช่อง และอำเภอวังน้ำเขียว) ศรีสะเกษ (อำเภอเมืองศรีสะเกษ ขุนหาญ และอำเภอราษีไศล) และจังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเมืองอุบลราชธานี นาจะหลวย และอำเภอวารินชำราบ)
ภาคกลาง จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอทองผาภูมิ ไทรโยค ศรีสวัสดิ์ และอำเภอสังขละบุรี) ราชบุรี (อำเภอบ้านคา) นครนายก (อำเภอเมืองนครนายก ปากพลี และอำเภอบ้านนา) ปราจีนบุรี (อำเภอเมืองปราจีนบุรี ประจันตคาม กบินทร์บุรี และอำเภอนาดี) สระแก้ว (อำเภอตาพระยา) ฉะเชิงเทรา (อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา และอำเภอบ้านโพธิ์) ชลบุรี (อำเภอบางละมุง พนัสนิคม และอำเภอพานทอง) จันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง ท่าใหม่ นายายอาม และอำเภอแหลมสิงห์) ตราด (อำเภอเมืองตราด เขาสมิง คลองใหญ่ บ่อไร่ และอำเภอแหลมงอบ) และจังหวัดเพชรบุรี (อำเภอแก่งกระจาน)
ภาคใต้ จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร (อำเภอเมืองชุมพร ท่าแซะ ละแม สวี และอำเภอหลังสวน) สุราษฎร์ธานี (อำเภอชัยบุรี บ้านตาขุน บ้านนาสาร และอำเภอพนม) นครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ท่าศาลา และอำเภอพรหมคีรี) สงขลา (อำเภอสะเดา และอำเภอสะบ้าย้อย) ยะลา (อำเภอบันนังสตา เบตง และอำเภอยะหา) นราธิวาส (อำเภอจะแนะ แว้ง และอำเภอสุไหงปาดี) ระนอง (อำเภอเมืองระนอง ละอุ่น และอำเภอสุขสำราญ) พังงา (อำเภอเมืองพังงา กะปง เกาะยาว คุระบุรี ตะกั่วป่า และอำเภอท้ายเหมือง) ภูเก็ต (ทุกอำเภอ) และจังหวัดกระบี่ (อำเภอคลองท่อม ปลายพระยา เหนือคลอง และอำเภออ่าวลึก)
สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน น่าน แพร่ พะเยา สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ หนองคาย สกลนคร ชัยภูมิ มุกดาหาร นครพนม นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สระแก้ว ชลบุรี ตราด สุพรรณบุรี สระบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และจังหวัดสงขลา
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้งจังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นทีเสี่ยงภัยให้เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ โดยได้กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักและพื้นที่ที่มีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีความเสี่ยงเกิดสถานการณ์ภัย ให้ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้บุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ขอให้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักรกลสาธารณภัยและเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ให้พร้อมเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดสถานการณ์ขึ้น และขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องและปฏิบัติตนได้อย่างปลอดภัยเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยขึ้นในพื้นที่
สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามสภาพอากาศ ข้อมูลสถานการณ์ และข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นโดยปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด โดยสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยรายพื้นที่ได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android ทั้งนี้ หากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย ประชาชนสามารถแจ้งเหตุ และขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป.-319.-สำนักข่าวไทย