เพชรบุรี 7 ส.ค. – น้ำล้นสปิลเวย์เขื่อนแก่งกระจาน เพิ่มสูงขึ้นเป็น 25 ซม. จากเมื่อคืนนี้อยู่ที่ประมาณ 12 ซม. คาดมวลน้ำจะถึงตัวเมืองเพชรบุรีเย็นนี้ และเริ่มส่งผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มต่ำและริมฝั่งแม่น้ำ ในบางจุดจะมีน้ำล้นตลิ่ง 20-30 ซม.
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้เตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งขณะนี้น้ำในทางระบายน้ำฉุกเฉิน (Spillway) ค่อยๆ มีระดับสูงขึ้น และจะไหลลงสู่ด้านท้ายในอัตราประมาณ 200-250 ลบ.ม./วินาที คาดว่าจะถึงตัวเมืองเพชรบุรีในช่วงเย็นวันนี้ (7 สิงหาคม) น้ำจะเริ่มส่งผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มต่ำและริมฝั่งแม่น้ำในบางจุดจะมีน้ำล้นตลิ่ง 20-30 เซนติเมตร และค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 50-70 เซนติเมตร ซึ่งไม่ต่างจากระดับน้ำในปี 2560 มากนัก
การพร่องน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานซึ่งขณะนี้เต็มความจุอ่างแล้ว มีความจำเป็น เนื่องจากจะต้องเพิ่มพื้นที่รองรับฝนที่จะตกลงมาใหม่ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ซึ่งระบุว่าประเทศไทยจะมีฝนตกชุกไปจนถึงวันที่ 9 สิงหาคม จึงได้ติดตั้งกาลักน้ำเพิ่มอีก 10 ชุด รวมของเดิมเป็น 22 ชุด หากติดตั้งแล้วเสร็จจะสามารถระบายน้ำได้รวมกันประมาณ 1,700,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ Hydro Flow แล้ว 6 เครื่อง และจะเร่งติดตั้งให้ครบ 20 เครื่อง
สำหรับการระบายน้ำทางระบบายน้ำล้นฉุกเฉิน (spillway) ขณะนี้ระบายผ่าน Spillway วันละประมาณ 950,400 ลูกบากศ์เมตร ระดับน้ำที่ล้นผ่าน Spillway จะทยอยสูงขึ้นจนสูงสุดในวันที่ 10 สิงหาคม อยู่ที่ระดับ 50 เซนติเมตร รวมปริมาตรน้ำจะไหลผ่านท้ายเขื่อนแก่งกระจานในอัตรา 200-250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะทำให้แม่น้ำเพชรบุรีมีปริมาตรน้ำผ่านสูงสุดในวันที่ 12 สิงหาคม
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า แนวทางบริหารจัดการน้ำจะทำโดยหน่วงน้ำหน้าเขื่อนแก่งกระจาน แล้วตัดน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้ายและฝั่งขวา รวม 55 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และผันเข้าคลองระบาย D9 ในอัตรา 35 ลูกบาศก์เมตรวินาที ทั้งสองส่วนตัดน้ำก่อนถึงเขื่อนเพชรได้ 90 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อน้ำไหลถึงเขื่อนเพชรที่กั้นแม่น้ำเพชรบุรี จะใช้เขื่อนเพชรเป็นเครื่องมือหน่วงน้ำ โดยระบายน้ำผ่านเขื่อนเพชรในอัตรา 140-160 ลูกบาศก์เมตรวินาที จากการพร่องน้ำแม่น้ำเพชรบุรีเตรียมไว้แล้ว ประกอบกับการเสริมคันกั้นน้ำ จะไหลผ่านหนอง อ.หญ้าปล้อง ท่ายาง บ้านลาด โดยไม่มีผลกระทบ และจะไหลผ่านเมืองเพชรบุรี ซึ่งมีความกว้างของแม่น้ำเพชรบุรีไม่มาก รับน้ำได้ประมาณ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้มีระดับน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งและพื้นที่ชุมชน ประมาณ 20-50 เซนติเมตร โดยคาดว่าน้ำจะท่วมประมาณ 2 สัปดา ส่งผลให้มีระดับน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งและพื้นที่ชุมชน ประมาณ 20-50 เซนติเมตร โดยคาดว่าน้ำจะท่วมประมาณ 2 สัปดาห์ และจะลดลงตามลำดับ
ส่วนข้อกังวลน้ำล้นเขื่อนแก่งกระจานนั้น อธิบดีกรมชลประทานยืนยันว่าจะไม่ล้นอย่างแน่นอน เนื่องจากคาดการณ์ระดับน้ำบนสปิลเวย์สูงสุดประมาณ 50 ซม. แต่ระยะห่างระหว่างสปิลเวย์กับสันเขื่อนอยู่ที่ประมาณ 7 เมตร ซึ่งยังห่างอีกมาก
สำหรับมาตรการระบายน้ำออกทะเลทั้งเพื่อลดระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตัวเมืองเพชรบุรี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 30 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ 44 เครื่องเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์น้ำ หากระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีเพิ่มสูงขึ้น ก็พร้อมที่จะเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ขอให้ประชาชนมั่นใจในศักยภาพการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน และขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด. – สำนักข่าวไทย