สระบุรี 6 ส.ค. – “ประชัย เลี่ยวไพรัตน์” พร้อมหวนคืนธุรกิจปิโตรเคมี คุยพันธมิตรลงทุนในอาเซียน พร้อมดูลู่ทางขยายกิจการไฟฟ้า
นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องการลงทุนธุรกิจปิโตรเคมีในประเทศในอาเซียนที่มีแผนพัฒนาปิโตรเคมีโดยร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นประเทศนั้น ๆ ได้เชิญชวนให้ร่วมลงทุน เนื่องจากเห็นว่าบริษัทมีความเชี่ยวชาญธุรกิจ ประกอบกับคาดว่าโครงการจะสามารถจัดหาวัตถุดิบได้ในต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ โดยเห็นผลงานในอดีตที่ จ.ระยอง ก่อนที่ทีพีไอ จะกลายเป็น บมจ.ไออาร์พีซีในปัจจุบัน
“ในไทยคงไม่ลงทุนปิโตรเคมี ส่วนที่พันธมิตรอาเซียนชวนลงทุน เพราะเชื่อผลทำงานที่ระยองมีใครทำได้บ้างที่เริ่มจากศูนย์แบบของผม“ นายประชัย กล่าว
นอกจากนี้ กลุ่มบริษัท TPI ยังให้ความสนใจที่จะขยายลงทุนไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของพลังงานไฟฟ้าที่ปัจจุบันมี บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) ดำเนินการอยู่ในประเทศไทยก็จะขยายไปอาเซียนทั้งในส่วนพลังงานฟอสซิล และพลังงานทดแทน ทั้งขยะ , ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ โดยมุ่งโฟกัสในภูมิภาคอาเซียนเป็นหลัก
ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่ม TPI มีทั้งธุรกิจปูนซีเมนต์ ผลิตภันฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจไฟฟ้าและการกำจัดขยะ โดนนายประชัย นับเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจปิโตรเคมีในนามของ บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (TPI) ในพื้นที่ จ.ระยอง เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วขยายธุรกิจและประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” เดือนกรกฎาคม 2540 ทำให้ TPI ซึ่งมีภาระหนี้สินต่างประเทศจำนวนมาก นำมาซึ่งการประกาศหยุดพักชำระหนี้และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ มีปัญหาขัดแย้งระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่าง TPI ทำให้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้เข้ามาไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง พร้อมกับมีแผนปรับโครงสร้างหนี้ โดยส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มทุน ซึ่งมี บมจ.ปตท. (PTT) เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน TPI ก่อนจะแปลงสภาพเป็น บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC)
ปัจจุบันแม้กลุ่มเลี่ยวไพรัตน์และกลุ่ม ปตท.ได้ยุติข้อพิพาททุกคดี ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาที่มีต่อกันแล้ว แต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งออกหมายจับนายทักษิณ จำเลยในคดีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรณีที่ให้ความเห็นชอบกระทรวงการคลังสมัยที่มี ร.อ.สุชาติ เชาววิศิษฎ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู TPI ซึ่งเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลังในการเข้าบริหารบริษัทเอกชน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2546 มาตรา 10 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ. – สำนักข่าวไทย