กรุงเทพฯ 20 ก.ย. – ก.อุตสาหกรรมเตรียมเสนอ 5 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ให้ครม.พิจารณาเร็วๆ นี้
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม 20 ปี ในช่วงปี 2560-2579 เสร็จแล้ว และนำเสนอให้นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาเพื่อปรับแก้ไขก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล ผ่านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะดำเนินการผ่าน 5 ยุทธศาตร์ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การยกระดับและสร้างนักรบอุตสาหกรรมพันธุ์ใหม่ให้เป็นกลไกหลักทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การปฎิรูปนิเวศอุตสาหกรรมเพื่อการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและการสร้างนวัตกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยุทธศาสตร์ผลักด้นการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยให้เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจโลก เป้าหมายแรกคือ CLMVT ซึ่งหมายถึง กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และประเทศไทย โดยเบื้องต้นจะต้องให้เอสเอ็มอีสามารถออกไปเปิดตลาดในประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV ได้ ด้านการผลิตจากการรับจ้างผลิตหรือ OEM ไปมีการมีตราสินค้าหรือแบรนด์ของตัวเอง เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนให้ตรงกับงานภาคอุตสาหกรรม และยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศ
สำหรับแนวคิดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปสู่ “ประเทศไทย 4.0 คือ การดำเนินการปรับโครงสร้างประเทศไทย สู่ประเทศไทย 4.0 ในส่วนภาคอุตสาหกรรม คือ การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย จากกลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ประเทศไทยอยู่ในยุคอุตสาหกรรม 3.0 ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหนัก อย่าง อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศ ก้าวพ้นจากการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางที่ปัจจุบันระดับรายได้ประชากร เฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ในระดับกว่า 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นไปอีกกว่า 2 เท่าตัวไปอยู่ในระดับ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี โดยตัวแปรสำคัญได้แก่ ต้องเพิ่มการส่งออกและการลงทุนให้มากขึ้น พร้อมก้บยกระดับผลิตภาพให้เพิ่มขึ้นจากที่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ต่อปีเป็นร้อยละ 2 ต่อ พร้อมกันปรับปรุงพัฒนาการบริหารจัดการองค์กรที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังมีโจทย์ท้าทายที่สำคัญอีกหลายประกาศที่จะต้องแก้ เช่น การเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ(จีดีพี) ที่จะต้องเพิ่มจากร้อยละ 3-3.5 ให้เพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับร้อยละ 4 ถึง 5 ต่อปี การแก้ไขข้อจำกัดการที่ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุให้ได้ เป็นต้น และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 จะดำเนินผ่านเครือข่ายประชารัฐ โดยใช้ความรู้ใหม่ การสร้างสรรสิ่งใหม่ การจัดหาภายนอก ไปสู่ภาคเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และท้องถิ่น พร้อมกับการเพิ่มผลิตภาพ และสร้างนวัตกรรมในกลุ่มผู้ประกอบการให้ได้เป็นต้น -สำนักข่าวไทย