ตาก 2 ส.ค.-จ.ตาก ประกาศเป็นจังหวัดต้นแบบจัดการอาหารคุณภาพในโรงเรียน พร้อมขยายผลทุกโรงเรียนโดยเร็ว ด้านนักวิชาการเเนะรัฐ เร่งสร้างนักโภชนาการท้องถิ่น เพื่อดูเเลโภชนาการอาหารของเด็กในโรงเรียน
นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวภายหลังเป็นประธานการประกาศนโยบายให้จังหวัดตากเป็นจังหวัดต้นแบบการจัดอาหารคุณภาพในโรงเรียน ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า จังหวัดเห็นความสำคัญของอาหารกลางวันของเด็ก จึงกำหนดให้เป็นวาระสำคัญของจังหวัด โดยเน้นการสร้างความเข้าใจ ความตระหนักบูรณาการทำงานและพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ด้านอาหาร โภชนาการและสุขภาพเชื่อมโยงกัน
สร้างความเข้มแข็งแก้ชุมชน เชื่อมโยงผลผลิตการเกษตรปลอดภัยในพื้นที่ให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารในโรงเรียน/ส่งเสริมให้ทุกโรงเรียนใช้โปรแกรมสำรับอาหารอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ (Thai Shool Lunch) ซึ่งช่วยจัดเมนูอาหารกลางวันได้สะดวกและมีคุณภาพ และบังคับใช้กฎหมายและกลไกภาครัฐในการติดตามและประเมินผล โดยส่งเสริมให้เกิดภาคีเครือข่ายทั้งต้นสังกัด โรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา และชุมชนมามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม
ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวต่อไปว่า นโยบายนี้จะมีความสำคัญต่อการดูแลลูกหลานของจังหวัดตากทุกคนให้เติบโต อย่างมีคุณภาพมีภาวะโภชนาการที่ดี ไม่เพียงส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ ยังมีผลต่อเนื่องไปถึงสติปัญญาเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเตรียมคนรุ่นใหม่เพื่อเป็นกำลังของจังหวัดตากและประเทศในอนาคต
ขณะเดียวกัน นโยบายนี้จะทำให้เกิดความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในจังหวัด ซึ่งแต่ละสังกัดทั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ต่างมีต้นแบบเป็นโครงการตนเอง ซึ่งโรงเรียนเทศบาล 2 วัดดอนมูลชัยก็ถือเป็นอีกต้นแบบหนึ่งที่สถานศึกษาต่างๆสามารถนำไปศึกษาและปรับประยุกต์ใช้ ซึ่งการนำไปใช้ก็ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับบริบทของแต่ละแห่งด้วย
ทั้งนี้ จังหวัดพร้อมให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณ เทคโนโลยีและบุคลากรที่จะมาให้ความรู้เรื่องอาหารและโภชนาการ ยังมีการเกษตรปลอดภัยที่ผู้ปกครองก็สามารถมาเรียนรู้กับนักเรียนและนำไปใช้กับการปฏิบัติจริงได้ และคาดว่าจะเกิดผลการเปลี่ยนแปลงโดยเร็วที่สุด
ด้านนายสง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า เเผนการขยายผลจากโรงเรียนอาหารกลางวันต้นเเบบไปยังสถานศึกษาอื่นๆนั้น ใช้วิธีการให้ลูกข่ายหรือสถานศึกษาบริเวณใกล้เคียงมาเรียนรู้งานจากโรงเรียนต้นแบบเพราะมองว่ามีหลายสถานศึกษามีงบประมาณเเต่ไม่ทราบวิธีการดำเนินงาน โดยในจังหวัดตากคาดว่าในเทอมที่2 ปีการศึกษา 2562 น่าจะขยายผลได้ทั่วจังหวัด
ขณะเดียวกันสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ทุกจังหวัดนำเรื่องนี้ไปขยายผลต่อ ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดนำรูปแบบการจัดการคุณภาพอาหารในโรงเรียนไปประยุกต์กับบริบทในจังหวัดของตนเอง , ปลุกคนที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยดำเนินการด้วยตนเอง ซึ่งบุคคลสำคัญที่ควรจะเริ่มก่อนคือผู้อำนวยการสถานศึกษา การมีทีมงานที่เข้มแข็งผ่านคณะกรรมการสถานศึกษา ดึงชุมชน ท้องถิ่นมีส่วนร่วม ซึ่งที่ผ่านมาหลายโรงเรียนทำไม่สำเร็จ ทำให้อาหารกลางวันของเด็กไม่มีคุณภาพ การเชื่อมโยงระหว่างบ้านเเละโรงเรียน เพราะโรงเรียนจัดอาหารกลางวันให้เด็กได้เเค่ 1 มื้อ เเต่มื้อที่เหลืออยู่ที่บ้าน ครอบครัวจึงมีส่วนในการปรับพฤติกรรมของเด็กในการเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าทั้งกรมอนามัยเเละสสส.ทำเรื่องนี้ไม่ค่อยสำเร็จมากนัก / เเละหากทุกคนร่วมใจกัน งานที่ออกมาจะทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ทั้งเด็ก ครอบครัว โรงเรียน ท้องถิ่น จังหวัดเเละประเทศ
นายสง่า กล่าวต่อว่า อีกสิ่งสำคัญที่ไทยยังขาด คือนักโภชนาการท้องถิ่น ที่จะมาให้ความรู้ในสถานศึกษาเพื่อการจัดอาหารกลางวันอย่างมีคุณภาพ เราจะพบนักโภชนาการเเค่ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดเท่านั้น เเต่ในโรงเรียนไม่มี ขณะที่ญี่ปุ่น มีนักโภชนาการตั้งเเต่สมัยสงครามโลกทั้งที่2 เพราะมีความสำคัญ เพื่อให้เด็กได้เจริญเติบโตสมวัย มีพัฒนาการที่ดี ไม่ใช่เเค่อาหารอร่อยเเต่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการเเละไม่ปลอดภัยมีสารพิษเจือปน
ขณะที่นายวิษณุ วิทยวราวัฒน์ ท้องถิ่นจังหวัดตาก กล่าวว่า โรงเรียนสังกัดเทศบาลตากมี 36 โรงเรียน ซึ่งจากการสำรวจเเละติดตามพบว่าทุกโรงเรียนดำเนินการโครงการอาหารกลางวันได้เป็นอย่างดี เเต่ทั้งนี้จะมีการจัดอบรมโปรแกรม Thai school lunch ให้กับครูในโรงเรียนสังกัดเพิ่มเติมระหว่างวันที่ 20-23 ส.ค.นี้เพื่อนำไปใช้กับเเต่ละโรงเรียนด้วย .-สำนักข่าวไทย