กรุงเทพฯ 1 ส.ค. – กรมชลประทานเฝ้าติดตามสถานการณ์ฝนและน้ำ ทั้งลำน้ำและเขื่อนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เขื่อนที่มีน้ำอยู่ในปริมาตรเกินเกณฑ์เก็บกักได้เร่งระบายออก โดยให้มีผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง วิเคราะห์สถานการณ์น้ำที่ได้รับรายงานจากโครงการชลประทานต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและบรรเทาภาวะอุทกภัย วันนี้ได้รับรายงานว่าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลำน้ำก่ำตลอดลำน้ำแล้ว อีกทั้งแขวนบานระบายทั้งหมดเพื่อเร่งผลักดันให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขง แต่ยังมีอุปสรรค คือ ระดับน้ำแม่น้ำโขงหนุนสูง ขณะนี้จังหวัดสกลนครมีน้ำท่วมในอำเภอเมือง โพนนางแก้ว และโคกศรีสุพรรณ 7,300 ไร่ ส่วนนครพนมมีน้ำท่วมอำเภอปากปลา เรณูนคร และนาแกประมาณ 1,500 ไร่ อีกทั้งยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ระดับน้ำในลำน้ำก่ำยังสูงอยู่ ล่าสุดติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนมอีก 8 เครื่อง ซึ่งเป็นประตูระบายน้ำสุดท้ายของลำน้ำก่ำห่างจากลำน้ำโขง 1 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้เวลา 7 วันกว่าที่ระดับน้ำในลำน้ำก่ำจะลดลงสู่ระดับปกติ
สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำยังตอนบน จังหวัดกาฬสินธุ์ยังคงมีฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอนาคู วัดได้ 95 มิลลิเมตร อำเภอเขาวง วัดได้ 65.5 มิลลิเมตร อำเภอสมเด็จวัดได้ 65 มิลลิเมตร อำเภอห้วยผึ้ง 63 มิลลิเมตร และ อำเภอนามน 53.5 มิลลิเมตร ส่งผลให้มีน้ำหลากไหลเข้าแหล่งน้ำและทางน้ำธรรมชาติเพิ่มขึ้น ระดับน้ำในลำน้ำยังตอนบนที่อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ สูงกว่าตลิ่ง 0.07 เมตร อัตราการไหล 552 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนพื้นที่ตอนล่างอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.83 เมตร อัตราการไหล 568 ลูกบาศก์เมตรวินาที ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 2 เซนติเมตรต่อชั่วโมง น้ำที่ล้นตลิ่งฝั่งซ้ายบริเวณที่เคยท่วมพื้นที่นอกเขตชลประทานประมาณ 5,000 ไร่ ได้ไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างก่อนจะไหลลงสู่ลำน้ำยังช่วงปลายตามลำดับ
ส่วนเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ขณะนี้มีปริมาตรน้ำ 1,137 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 57 มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ 53 ล้านลูกบาศก์เมตร สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ประสานงานกับศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนลำปาว เนื่องจากมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง เพื่อให้มีพื้นที่รองรับฝนที่จะตกลงมาเพิ่ม ขณะที่เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี หลังจากติดตั้งท่อกาลักน้ำขนาด 12 นิ้ว 10 ชุดเสริมการระบายน้ำท้ายเขื่อนสามารถเพิ่มการระบายได้จากวันละ 8.6 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็นวันละ 8.8 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้น้ำที่มีอยู่ร้อยละ 91 ของความจุอ่างซึ่งเป็นปริมาตรที่เกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) ทยอยลดลง แต่ทั้งนี้ต้องบริหารจัดการให้ส่งผลกระทบท้ายน้ำน้อยที่สุด และเขื่อนปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีน้ำร้อยละ 83 จะทยอยปรับการระบายจาก 55 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเป็น 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ล่าสุดโครงการชลประทานกาฬสินธุ์ปรับเพิ่มการระบายน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ โครงการชลประทานกาฬสินธุ์ปรับเพิ่มการระบายน้ำ โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบท้ายน้ำ โดยนำน้ำที่ระบายจัดส่งเข้าพื้นที่ชลประทาน เพื่อไม่ให้เป็นการระบายทิ้งโดยเปล่าประโยชน์และได้เร่งขุดเปิดร่องชักน้ำเพื่อให้น้ำระบายไปตามแนวคลองที่ขุดไว้รองรับ
ส่วนลำน้ำยัง จังหวัดร้อยเอ็ด พนังกั้นน้ำถูกเซาะขาดและกรมชลประทานซ่อมแซมเสร็จแล้วนั้น ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ระดมเครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ เข้าพื้นที่ เสริมระดับพนังในจุดที่พบความเสี่ยง ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับการระบายน้ำลำน้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานีลงสู่แม่น้ำโขง ยังสามารถระบายน้ำได้ เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำมูลยังสูงกว่าแม่น้ำโขง ซึ่งกรมชลประทาน ไม่ได้นิ่งนอนใจเตรียมพร้อมเครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำไว้แล้ว หากสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงสูงกว่าระดับน้ำในแม่น้ำมูลจะได้ทำการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในระยะต่อไป
สำหรับเขื่อนทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็กรวม 1,600 แห่งที่กรมชลประทานดูแลนั้น หากเขื่อนใดมีปริมาตรน้ำมากจะเร่งระบายให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมไม่เกินร้อยละ 60-70 ของความจุอ่าง ส่วนเขื่อนขนาดใหญ่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมี 10 เขื่อนที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้ามีบางเขื่อนที่มีปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ เขื่อนลำปาว อุบลรัตน์ จุฬาภรณ์ และวชิราลงกรณนั้นกรมชลประทานได้ประสานงาน กฟผ. เพื่อปรับเพิ่มปริมาณการระบายน้ำออกมากขึ้น เช่น เขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี หลังจากฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบนส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนวชิราลงกรณจำนวนมาก ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดปริมาณน้ำในอ่างฯ อยู่ที่ 7,146 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81 ของความจุอ่างฯ มีการระบายน้ำออกจากอ่างฯ วันละประมาณ 28 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ จากการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ มีมติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ(กฟผ.)เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนวชิราลงกรณ เป็นวันละ 36 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อรักษาระดับน้ำในเขื่อนให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย และรักษาเสถียรภาพของเขื่อนให้สามารถรองรับปริมาณน้ำจากฝนที่จะตกลงมาในพื้นที่ได้อีกในระยะต่อไป สำหรับการเพิ่มการระบายน้ำในครั้งนี้อาจส่งผลกระทบผลต่อกลุ่มผู้ใช้น้ำที่อยู่ทางด้านท้ายเขื่อน กรมชลประทานจึงมอบหมายให้ กฟผ. ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อชี้แจงพร้อมทำความเข้าใจต่อกลุ่มผู้ที่อาจได้รับผลกระทบทราบต่อไปแล้ว
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเดิม ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศจัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่ หากฝนตกหนักจะได้เข้าไปแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งกำชับให้ติดตามตรวจสอบอาคารและระบบชลประทานให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแต่ละช่วงเวลา ควบคุมและรักษาระดับน้ำในเขื่อนต่าง ๆให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด อีกทั้ง จัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ 1,851 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 317 ชุด รถบรรทุก/ยานพาหนะ 324 คัน ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคในเขตสำนักงานชลประทานต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 2,803 หน่วย เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ.-สำนักข่าวไทย