กรุงเทพฯ 25 ก.ค. – ม.หอการค้าไทยเผยผลสำรวจเอสเอ็มอีจดนิติบุคคลแล้วรุ่ง ยอดขายเพิ่มร้อยละ 40 กำไรพุ่งร้อยละ 32.7
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความคุ้มค่าของการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่า มีสถานประกอบการที่ยื่นจดทะเบียนนิติบุคคล 700,000-800,000 ราย ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2.5 ล้านราย โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 1.75 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ยังไม่ยอมจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล กลุ่มนี้จึงน่าเป็นห่วง เนื่องจากความช่วยเหลือจากภาครัฐผ่านมาตรการต่าง ๆ ไม่สามารถไปถึงผู้ประกอบการเหล่านี้ได้
ทั้งนี้ จากการสำรวจเอสเอ็มอีทั่วประเทศ 1,250 ตัวอย่าง ต่อสถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจ เทียบกับปีที่ผ่านมา ระหว่างเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนกับเอสเอ็มอีไม่จดทะเบียน จะเห็นว่าเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะยอดขายปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.7 กำไรดีขึ้นร้อยละ 32.7 ราคาสินค้าปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 24.2 และสภาพคล่องของธุรกิจปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 27.4 ขณะที่เอสเอ็มอีที่ไม่จดทะเบียนนิติบุคคล มีการปรับตัวดีขึ้น/เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ต่ำกว่า ด้านความต้องการสินเชื่อ เอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ร้อยละ 29.92 ระบุว่า ปัจจุบันต้องการสินเชื่อ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจร้อยละ 32.56 ลงทุนเพิ่มร้อยละ 9.52 ใช้จ่ายทั่วไปร้อยละ 6.48 ชำระหนี้เก่าร้อยละ 5.36 และอื่น ๆ ร้อยละ 0.48
นอกจากนี้ ยังพบว่า 5 ปัจจัยแรกที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่ยอมจดทะเบียนนิติบุคคลมาจากกลัวการถูกเก็บภาษีถึงร้อยละ 43 ระยะเวลาจดทะเบียนหรือไม่มีเวลาไปจดทะเบียนร้อยละ 40.5 ได้รับการบอกเล่าที่ไม่ดีจากการจดทะเบียนร้อยละ 40.2 การจดทะเบียนนิติบุคคลทำได้ยาก-เอกสารเยอะถึงร้อยละ 38.4 และการเป็นนิติบุคคลจะถูกกรมสรรพากรตรวจสอบได้ละเอียดร้อยละ 38.2 ส่วนข้อเสนอต่อรัฐบาลที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนิติบุคคล ได้แก่ ไม่ตรวจสอบบัญชีย้อนหลัง ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียน เมื่อเกิดวิกฤติธุรกิจต้องได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ให้ความรู้ด้านบัญชีและการจดทะเบียน ให้ความมั่นใจและความคุ้มค่ากับเจ้าของกิจการว่าหากจดทะเบียนแล้วจะได้รับประโยชน์อย่างไร รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการจดทะเบียนให้เพิ่มมากขึ้น ลดความยุ่งยากของขั้นตอนการจดทะเบียนและขยายเวลาเก็บเอกสาร ลดหย่อนภาษีและอัตราดอกเบี้ย และอำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานต่าง ๆ.-สำนักข่าวไทย