กรุงเทพฯ 23 ก.ค.- มท.1 – รมว.พลังงาน ยังเห็นแย้งค่าไฟฟ้าพลังงานชุมชนรอบใหม่ ด้าน กกพ.เผยขยะผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มอีก 300-500 เมกะวัตต์ ในขณะที่นายกฯขีด1 เดือนให้รู้ชัด
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า การรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจำนวนประมาณ 78 เมกะวัตต์ (MW) นั้น จะปิดให้ยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าภายในวันที่ 30 ก.ย.61 โดยต้องเป็นผู้ดำเนินการที่ผ่านขั้นตอนข้อกฎหมายเรื่องพ.ร.บ.ร่วมทุนฯจากกระทรวงมหาดไทยมาแล้วเท่านั้นหากมีผู้เสนอไม่ครบจำนวนก็จะไม่ขยายระยะเวลาการยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าออกไปอีก หลังจากที่ได้ขยายระยะเวลามาแล้ว 1 ครั้งก่อนหน้านี้
สำหรับการประกาศสมัครโครงการดังกล่าวประกาศระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.60-30 ก.ย.61 และจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคัดเลือกภายในวันที่ 31 ต.ค.61 โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตามสัญญา (SCOD) เป็นภายในปี 64
โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้เป็นรายชื่อที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด เลือกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการในระยะแรก (Quick Win Projects)มีทั้งหมด 12 โครงการ 8 พื้นที่ ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา แบ่งเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งโรงไฟฟ้า ต.มหาพราหมณ์ อ.บางบาล และ เทศบาลตำบลนครหลวง (1) ในต.บางระกำ อ.นครหลวง , จ.สระบุรี เทศบาลตำบลนครหลวง (2) ต.หนองไข่น้ำ อ.หนองแค , จ.นนทบุรี ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี (2) ต.คลองขวาง อ.ไทรน้อย และองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี (3) ต.คลองขวาง อ.ไทรน้อย ,จ.ระยอง องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ต.น้ำคอก อ.เมือง ,จ.หนองคาย องค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย ต.โพนสว่าง อ.เมือง ,จ.กระบี่ เจ้าของโครงการ เทศบาลเมืองกระบี่ อ.เมือง ,จ.ตาก เจ้าของโครงการ เทศบาลแม่สอด ต.แม่ปะ อ.แม่สอด ,จ.อุดรธานี เจ้าของโครงการ เทศบาลอุดรธานี ต.หนองนาคำ อ.เมือง , กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม ถ.พุทธมณฑลสาย 3 เขตหนองแขม และเจ้าของโครงการ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช ถ.อ่อนนุช เขตประเวศ
นายวีระพล กล่าวว่า ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015) จะรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ 550 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ โดยการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะมีสัญญาอยู่แล้ว 399 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ขยะอุตสาหกรรม 37 เมกะวัตต์ และขยะชุมชน 361 เมกะวัตต์ และกำลังเปิดคัดเลือกอีก 78 เมกะวัตต์ ซึ่งก็จะทำให้การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะใกล้เคียงเป้าหมาย อย่างไรก็ตามปริมาณจากการสำรวจปริมาณขยะทั่วประเทศพบว่าเพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้อีก 300-500 เมกะวัตต์ ในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้จะเปิดรับซื้อหรือไม่ต้องรอนโยบายที่ชัดเจนจากทางรัฐบาลต่อไปก่อน
ด้านรายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานแจ้งว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีเร่งรัดเรื่องโครงการขยะชุมชนโดยให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงานดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 เดือนนั้น ที่ผ่านมา 2 กระทรวงหารือกันมาตลอด แต่ มีความเห็นด้านค่าไฟฟ้ารับซื้อแตกต่างกัน โดย พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว. มหาดไทยต้องการปริมาณรับซื้อเพิ่มขึ้น เสนอเพิ่มจุดที่ตั้ง และต้องการวงเงินอุดหนุน Fit เท่าเดิมที่ 5.78 บาท/หน่วย อย่างไรก็ตาม นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว. พลังงาน มีนโยบายชัดว่าอัตราค่ารับซื้อจะไม่แพงกว่าขายส่งที่2.40 บาท/หน่วย เพราะการผลิตไฟฟ้าเป็นเพียงผลพลอยได้จากการกำจัดขยะเท่านั้น ผู้ใช้ไฟฟ้า ไม่ควรรับภาระทั้งหมด โดย กระทรวงพลังงานมอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ. ) ไปศึกษารายละเอียดทั้งหมด
ทั้งนี้ พล.อ.พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้ง มท.และ ก.พลังงานเร่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย แบบครบวงจรในทุกกลุ่มพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 7,800 กว่าแห่ง ที่มีการรวมกลุ่มเพื่อกำจัดขยะมูลฝอย – ภูเขาขยะ 324 ลูก ทั่วประเทศ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนโดยขอให้พิจารณาขนาด และที่ตั้ง ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ของแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ— สำนักข่าวไทย