กรมสุขภาพจิต 22 ก.ค.ศูนย์เชี่ยวชาญโรคติดสุรา ห่วงใยผู้ที่มีความตั้งใจงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษา แนะควรเริ่มจากค่อยๆ ลดปริมาณการดื่มลงทีละน้อยแทนการงดหรือหยุดดื่มทันที เพราะอาจเกิดอาการถอนพิษเหล้า มือสั่น เหงื่อออก กระวนกระวาย นอนไม่หลับ หูแว่ว ประสาทหลอน หรือชักจากภาวะสมองติดเหล้าได้
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากการสำรวจพบว่า ประชาชนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป ร้อยละ 1.8 หรือประมาณ 900,000 คน มีอาการติดเหล้า (Alcohol dependence) จึงได้จัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญโรคติดสุราขึ้นที่โรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนามาตรฐานแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นการเฉพาะ และศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยที่จะสามารถทำให้ผู้ติดเหล้า สามารถเลิกเหล้าได้
ซึ่งจากการศึกษาพบว่า การดื่มเหล้าเป็นระยะเวลานาน จะทำให้สมองของผู้ติดเหล้ามีการเปลี่ยนแปลง จะทำงานมากกว่าปกติเพื่อต้านฤทธิ์ของเหล้า ดังนั้นผู้ที่ดื่มเหล้าต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน หากงดหรือหยุดดื่มเหล้าทันที จะก่อให้เกิดอาการถอนพิษเหล้าได้ ในรายที่รุนแรง อาจเกิดอาการ มือสั่น เหงื่อออก กระวนกระวาย นอนไม่หลับ ซึ่งในช่วงนี้หลายคนอาจทนไม่ได้ก็จะกลับไปดื่มเหล้าใหม่ นอกจากนี้ ยังมีจำนวนไม่น้อยมีอาการถอนพิษเหล้ารุนแรง ใน3-4วันแรก ของการงดดื่มเหล้า ทำให้เกิดอาการเพ้อ สับสน หูแว่ว ประสาทหลอน หวาดระแวง หลงผิดหรือเกิดอาการชักได้
กรมสุขภาพจิต จึงขอฝากเตือนด้วยความห่วงใยไปยังผู้ที่ตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงตนเองหรือเริ่มทำสิ่งดีๆ ให้กับตนเองและครอบครัวด้วยการงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษาที่จะถึงนี้ ว่าควรเริ่มลดปริมาณการดื่มเหล้าลงเรื่อยๆ ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันเข้าพรรษา 28 กรกฎาคม ก็จะสามารถเลิกหรือหยุดดื่มได้อย่างที่ตั้งใจโดยไม่ทำให้เกิดเกิดอาการดังกล่าว แต่สำหรับผู้ที่ตั้งใจงดเหล้าเข้าพรรษาแต่ไม่สามารถลดปริมาณการดื่มลงได้ทันในช่วงนี้ ขอแนะนำให้ไปพบแพทย์ก่อนวันที่จะเริ่มงด เพื่อแพทย์จะให้ยาลดการเกิดอาการถอนพิษสุรารุนแรง
ทางด้านนายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง รับผิดชอบศูนย์เชี่ยวชาญ โรคติดสุราระดับชาติ แนะหลักการ “เพิ่มพลังสุขภาพจิต” (Resilience) เพื่อการเลิกเหล้าได้อย่างได้ผล ดังนี้ 1) ผู้ติดเหล้าต้องตั้งเป้าหมายในชีวิตที่จะ ลด ละ เลิกดื่มเหล้าให้ได้ โดยมีการตั้งเป้าหมายว่าจะเลิกดื่มเหล้าเพื่อใคร เช่น เพื่อพ่อแม่ เพื่อลูก เพื่อคนรัก เพื่อการมีสุขภาพที่ดีขึ้น เพื่อความสุขของครอบครัว /กำหนดระยะเวลาที่จะเลิกเหล้าให้ชัดเจน เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจ 2) คนรอบข้างต้องส่งเสริมให้ผู้ติดเหล้ารู้สึกดีและภาคภูมิใจ ในตัวเอง โดยชี้ชวนให้ผู้ค้นหาคุณค่าและความหมายที่ดีงามของชีวิต ทั้งในชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และหน้าที่การงาน 3) ครอบครัวต้องพร้อมที่จะเข้าใจ ยอมรับ และให้การสนับสนุนในการเลิกดื่มเหล้า เพื่อให้เขารู้ว่า ยังมีครอบครัวที่หวังดีและจริงใจ แม้ในยามเผชิญเหตุการณ์ที่ยากลำบาก 4) คนรอบข้างช่วยสร้างแรงบันดาลใจ โดยชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จเป็นระยะๆ รวมทั้งควรกล่าวชื่นชมในทุกความสำเร็จ 5) ผู้ติดเหล้าที่ตั้งใจเลิกดื่มควรสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับบุคคลใกล้ชิด เพื่อน เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ผู้นำชุมชน ชมรม สมาคม ที่สามารถเกื้อหนุนต่อตัวผู้ที่ติดเหล้าให้สามารถเลิกเหล้าได้ ทั้งนี้ สามารถขอรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตจากสุรา ได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต โทร.1323 ตลอด 24 ชั่วโมง.-สำนักข่าวไทย