ยธ.21 ก.ค.-รมว.ยธ.สั่งเพิ่ม 4 ประเด็น พ.ร.บ.คู่ชีวิตเน้นสังคมเข้าเรื่องใหม่ หากพัฒนาเป็นกฎหมายเริ่มต้นจากคู่ชีวิต ก่อนเป็นคู่สมรสถาวร และต้องแยกชัดก.มหาดไทย หรือ ก.ยุติธรรม รับจดทะเบียน ฟุ้งเสียงหนุนเพียบ
น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยความคืบหน้าการยกร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ…ว่า ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการยกร่างพิจารณายกร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะเสนอร่างฉบับสมบูรณ์เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของกรมคุ้มครองสิทธิฯ โดยจะต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนก่อนที่จะส่งให้
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ยุติธรรม พิจารณาเสนอครม.พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้มีการพิจารณาตามกรอบของร่างเดิม 63 มาตราและอาจมีการเพิ่มเติมในประเด็นที่สำคัญ ซึ่งได้รวบรวมมาจากการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประเทศที่มีกฎหมายคู่ชีวิตบังคับใช้ เช่น แม็กซิโก แอฟริกาใต้ แคนาดา ออสเตรเลีย และอังกฤษ เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาตัวกฎหมายพ.ร.บ.คู่ชีวิต และพ.ร.บ.ทะเบียนสมรส อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในหลายประเทศกว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ต้องใช้ระยะเวลานานถึง
10 ปี
อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา รมว.ยุติธรรม ให้ความสำคัญในการผลักดันร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เนื่องจากปัจจุบันประชากรไทยมีจำนวนกว่า 65 ล้านคน และมีจำนวนมากที่มีความหลากหลายทางเพศและต้องได้รับสิทธิเสรีภาพของบุคคลเช่นเดียวคนเพศอื่นๆ จึงได้ให้นโยบายเพิ่มเติมใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ระหว่างการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องเร่งสร้างความเข้าให้กับสังคมเพราะเป็นเรื่องใหม่ และเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อความรู้สึก 2.ศึกษาแนวทางในการรับรองสถานะของคู่สมรสหรือคู่ชีวิตของกลุ่มหลากหลายทางเพศที่จดทะเบียนในต่างประเทศและเข้ามาอาศัยในประเทศไทยว่าจะได้รับการคุ้มครองหรือรับสิทธิในรูปแบบใด 3. หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ควรเริ่มต้นจากการจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตซึ่งต้องกำหนดชัดเจนว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบรับจดทะเบียนจะเป็นกระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวงยุติธรรมและ 4.จากนั้นจึงพัฒนากฎหมายเป็นการจดทะเบียนสมรส
“นับตั้งแต่กระทรวงยุติธรรมเดินหน้าผลักดันพ.ร.บ.คู่ชีวิตมีกระแสตอบรับจากกลุ่มคนหลากหลายทางเพศดีมาก มีการให้ข้อมูลและมีการรวบรวมรายชื่อกว่า 60,000 คนสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ และเชื่อว่าจะยังมีคนสนับสนุนเงียบๆมากกว่านี้เพราะยังมีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่ไม่แสดงตัวอีกจำนวนมาก” อธิยดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ กล่าว.-สำนักข่าวไทย