กกต. 11 ก.ค.-สรุปผลรับฟังความเห็นร่างกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นฉบับกฤษฎีกาเสร็จแล้ว กกต.เตรียมพิจารณาเสนอความเห็นพร้อมผลสำรวจในสัปดาห์หน้า เผยความเห็นผู้เกี่ยวข้อง หวั่น กกต.ไม่ได้จัดเลือกตั้งเอง ทำให้เกิดความไม่เป็นกลาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (11 ก.ค.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้สรุปผลการรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. … ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งเรื่องมาให้ กกต.เปิดรับฟังความคิดเห็น และ กกต.ได้ส่งให้สำนักงาน กกต.จังหวัดทั่วประเทศรับฟังความเห็นประชาชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในช่วงตั้งแต่วันที่ 12-27 มิถุนายน 2561 รวมถึงสรุปจากข้อเสนอของสมาคมผู้บริหารท้องถิ่น สมาคมข้าราชการท้องถิ่น สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ส่งมาเสร็จสิ้นแล้วและจะเสนอกลับไปยังคณะกรรมการฤษฎีกา ในช่วงกลางสัปดาห์หน้า
โดยผลสรุปการรับฟังความเห็นมีผู้แสดงความเห็นเกี่ยวกับบทบัญญัติของร่างกฎหมายดังกล่าว รวม 25 มาตรา ประกอบด้วย การมอบหมายให้หน่วยงานอื่นเป็นผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งแทน กกต. อาจทำให้เกิดความไม่เป็นกลางในการจัดการเลือกตั้งได้ การจัดการเลือกตั้งสมาชิกหรือผู้บริหารท้องถิ่นในกรณีครบวาระหรือแทนตำแหน่งที่ว่างในการเลือกตั้งครั้งแรกนี้ ควรต้องกำหนดให้ชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันวาระการดำรงตำแหน่งของ อปท.ครบหมดแล้ว กกต.ควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง ไม่ใช่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรกำหนดระยะเวลาออกเสียงเลือกตั้งตั้งแต่เวลา 08.00-1500 น. เพราะจะทำให้กรรมการประจำหน่วยเตรียมการสำหรับการนับคะแนนและจัดทำเอกสารต่าง ๆ ได้สะดวก
นอกจากนี้ตำแหน่งผู้อำนวยการการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรแต่งตั้งจากนายอำเภอ หรือหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ หรือหัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่นอื่นมาทำหน้าที่แทน เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันของผู้สมัคร กรณี กกต.ต้องสืบสวน ไต่สวน เนื่องจากเหตุอันควรได้ว่าการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม ควรกำหนดระยะเวลาที่ กกต.ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนประกาศผลการเลือกกตั้ง ควรกำหนดให้มีการเยียวยาแก่ผู้บริหาร สมาชิกสภาท้องถิ่นที่ถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง และต่อมาศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ควรกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครสมาชิกหรือผู้บริหารท้องถิ่น ต้องมีวุฒิการศึกษา และในกรณีการมีชื่อในทะเบียนบ้าน ก็ควรกำหนดให้มากกว่า 1 ปี เนื่องจากจะต้องรู้ปัญหาในพื้นที่จริง ๆ
ในเรื่องลักษณะต้องห้ามกรณีต้องคำพิพากษาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ ควรมีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาก่อน เพราะลักษณะต้องห้ามดังกล่าว เกิดขึ้นก่อนผู้นั้นเคยดำรงตำแหน่งดังกล่าว และกฎหมายเดิมไม่ได้บัญญัติเป็นลักษณะต้องห้าม ควรกำหนดห้ามบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งและลาออกก่อนครบวาระกลับเข้ามาสมัครในตำแหน่งเดิม ไม่ควรตัดสิทธิผู้สมัครคนเดิมสำหรับการเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งก่อนได้คะแนนเสียงน้อยกว่าคะแนนที่ไม่เลือกผู้สมัครใด ความผิดที่กำหนดให้เป็นการทุจริตในเลือกตั้งนั้น ควรกำหนดระวางโทษให้หนักยิ่งกว่าที่ร่างกฎหมายกำหนด เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยมีการทุจริตอย่างมโหฬารทุกระดับ ตั้งแต่ท้องถิ่นถึงระดับประเทศ จะทำให้ผู้สมัครเกิดความเข็ดหลาบ
ทั้งนี้ในส่วนของสำนักงาน กกต.เตรียมจะสรุปปัญหาอุปสรรคในทางปฏิบัติงานตามร่างกฎหมายดังกล่าว เสนอที่ประชุม กกต.พิจารณาในต้นสัปดาห์หน้าด้วย และจะมีการส่งความเห็นของ กกต.ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ได้นำข้อมูลทั้ง 2 ส่วนดังกล่าวไปพิจารณาเพื่อทบทวนปรับปรุงร่างกฎหมายในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี และคาดว่าจะส่งถึง สนช.ได้ช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้.-สำนักข่าวไทย