รัฐสภา 11 ก.ค.- วิปสนช.ยันไร้ใบสั่งโหวต 7 กกต.คาดใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงรู้ผล เหตุผลสอบประวัติแต่ละคนยาวเพราะถามไปถึง 22 หน่วยงาน
นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยว่า การประชุมสนช.วันพรุ่งนี้ (12 ก.ค.) วาระแรก เป็นการประชุม เพื่อลงมติให้ความเห็นชอบกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หลังจากคณะกรรมการตรวจสอบประวัติและความประพฤติ ได้ตรวจสอบประวัติว่าที่กกต.ทั้ง 7 คนแล้ว โดยประธานคณะกรรมาธิการฯ และคณะ จะแถลงชี้แจงว่าตรวจสอบประวัติไปยังหน่วยงานต่าง ๆ 22 หน่วย ตั้งแต่ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ป.ป.ช. ป.ป.ง. ป.ป.ท. สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สันติบาล หน่วยงานต้นสังกัดเดิม แต่รายละเอียดเป็นอย่างไร เมื่อหน่วยงานเหล่านั้นรายงานกลับมา ได้เชิญผู้ที่ได้รับสรรหาในเบื้องต้นทั้ง 7 คนมาซักถาม และชี้แจงถึงข้อกล่าวหาต่าง ๆ โดยเฉพาะบางคนที่ถูกกล่าวหาว่ามีคดี
“ในรายละเอียด จะขอประชุมลับ ซึ่งมีเอกสารข้อมูลจำนวนมาก ผมยืนยันว่าไม่มี ใบสั่ง หรือมีใครขอให้เลือกใคร ที่ประชุมจะลงมติตามเนื้อผ้าด้วยความเป็นธรรม คาดว่าจะใช้เวลาการประชุมกว่า 3 ชั่วโมง ลงมติ และนับคะแนน แต่โดยผู้ที่จะได้เป็นกกต.จะต้องมีเสียงให้ความเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ 246คน จึงต้องได้เสียงไม่น้อยกว่า 123 คะแนน” นายสมชาย กล่าว
ส่วนที่มีข้อเสนอว่าให้ใช้วิธีทาบทาม เป็นสัญญาณว่าจะเลือกได้ไม่ครบหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ไม่ถือเป็นสัญญาณเพราะไม่ทราบว่าจะโหวตผ่าน ครบหรือไม่ แต่หากได้ไม่ครบ ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาที่จะต้องประชุมเพื่อรับสมัครหรือทาบทามส่วนที่ขาด แต่หากมีผู้ได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งเกิน 5 คน ว่าที่กกต.จะต้องนัดประชุมภายใน 15 วัน เพื่อเลือกประธาน แล้วจึงจะนำรายชื่อประธานและว่าที่กกต.ขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับว่าที่กกต.ทั้ง 7 คนมาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา 5 คน คือ นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ นักวิชาการสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา และกรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ นายพีรศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด นายธวัชชัย เทิดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คน ซึ่งเป็น 2 คนเดิมที่เคยเสนอชื่อ คือ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และนายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา.-สำนักข่าวไทย