วธ. 22 ก.ย.- วธ.ได้ข้อสรุปขอให้ทีมผลิตเที่ยวไทยมีเฮ ปรับฉากทศกัณฐ์หยอดขนมครก ขี่ม้า ขับโกคาร์ท บานาน่าโบ๊ทออก ยันไม่ได้ห้าม แต่ขอเดินคนละครึ่งทาง เพื่อไม่ให้กระทบกับจารีต อยู่ในบริบทที่รับได้
นายอภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) แถลงผลหารือกรณีความห่วงใยในการจัดทำมิวสิกวิดีโอ “เที่ยวไทยมีเฮ” ที่นำทศกัณฐ์ ตัวละครสำคัญในวรรณคดี “รามเกียรติ์” ยกทัพยักษ์เที่ยวทั่วไทย และการนำทศกัณฐ์ไปแสดงอากัปกิริยาในมิวสิกวิดีโอที่อาจไม่เหมาะสม เช่น หยอดขนมครก ขับโกคาร์ท เล่นบานาน่าโบ๊ท ขี่ม้า โดยผลการหารือวันนี้ ซึ่งเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรมศิลปากร กรมส่งเสริมวัฒนธรรม สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ได้ผลสรุปว่า มิวสิกวิดีโอดังกล่าวถือเป็นแนวคิดที่ดีและสร้างสรรค์ของทีมผู้ผลิตที่ต้องการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย แต่บางฉากอาจไม่เหมาะ ตามที่ผู้รู้และครูโขนได้ให้ข้อมูล โขนเป็นศิลปะ เป็นนาฏศิลป์ชั้นสูง มีครูอาจารย์ โดยขอให้ทีมผู้ลิตและผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ “บัณฑิต ทองดี” ตัดฉากที่ไม่เหมาะสมออก เช่น ฉากทศกัณฑ์หยอดขนมครก ขับโกคาร์ท ขี่บานาน่าโบ๊ท แต่ฉากที่เป็นท่าร่ายรำของนาฏศิลป์โขน ถือว่าไม่เป็นไร ยืนยันว่าไม่ได้ห้ามทำ เป็นเพียงการแนะนำ เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยขอให้ยอมเดินก้าวมาคนละครึ่งทาง หาจุดกลางระหว่างกัน ซึ่งที่ผ่านมา ก.วัฒนธรรม ก็พยายามนำเสนอให้โขนจับต้องได้และเข้าถึงคนรุ่นใหม่มาตลอด แต่ต้องอยู่ในบริบทที่รับได้
ปลัด วธ. กล่าวต่อไปว่า เรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนที่จะนำไปสู่การจัดทำคู่มือออกมาเป็นระเบียบที่ถูกต้องในอนาคต มีกฏกติกาที่ชัดเจนว่า เรื่องใดที่ทำได้หรือทำไม่ได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีร่างกฏระเบียบ มีเพียงแต่การเข้ามาปรึกษาหารือเท่านั้น รวมถึงจะเป็นจุดเริ่มต้นเชิญทีมผลิตสื่อในประเทศมาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ หากจะมีการนำเสนอเรื่องราวด้านศิลปะชั้นสูง หรือมิติทางวัฒนธรรมไปในแนวสร้างสรรค์ ทำให้มิติด้านการท่องเที่ยวและด้านวัฒนธรรมเดินหน้าร่วมกันได้ และอนาคตหากมีปัญหาจะได้หาทางออกร่วมกันได้
อย่างไรก็ตาม มองว่า การผลิตเป็นมิวสิกวิดีโอโปรโมทการท่องเที่ยว ถือว่านำเอามรดกทางวัฒนธรรมไปต่อยอด โดยไม่ได้ตั้งใจหลบหลู่ แต่อาจเข้าใจไม่ทั้งหมด โดยวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.) สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์จะมาหารือเรื่องนี้อีกครั้ง โดยเชิญศิลปินแห่งชาติ ผู้รู้เรื่องโขน มาให้ความรู้ด้านโขน รวมถึงขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีที่ถูกต้อง
ขณะที่นายธีรภัทร์ ทองนิ่ม ผู้ช่วยอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กล่าวว่า ไม่ใช่สถาบันไม่เห็นด้วย แต่จะให้มุมมองว่า การนำโขนไปเล่นเป็นอะไรก็ได้ จะทำให้รูปแบบดั้งเดิมตามจารีตหายไป เมื่อทีมผู้ผลิตบอกว่ามาปรึกษากรมศิลปากรแล้ว แต่พอทางสถาบันบัณฑิตฯ และกรมศิลปากรไปตรวจสอบ กลับหาไม่เจอว่าเป็นใคร ขณะนี้กำลังสอบถามและหาอยู่ว่าใครเป็นผู้ให้คำปรึกษาก่อนจัดทำมิวสิกวิดีโอที่ออกมา วันนี้ไม่ได้ต้องการให้หยุดทำ แต่อยากให้เป็นบรรทัดฐานว่า ก่อนจะทำอะไรด้านมิติวัฒนธรรมที่ถือว่าละเอียดอ่อน ขอให้มาปรึกษาหารือกันอย่างละเอียด.-สำนักข่าวไทย