กรุงเทพฯ 5 ก.ค. – ระบบไฟฟ้าไอพีเอสและพลังงานทดแทนของประเทศมีประมาณ 1 หมื่นเมกะวัตต์ กระทบกำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.หายไปประมาณ 5 พันเมกะวัตต์ กกพ.ทำโมเดลเตรียมพร้อมรับมือการเดินเครื่องในอนาคต ยอมรับกระทบต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่ม ด้าน ปตท.ประชุมบอร์ด 7 ก.ค.ปรับแผนรับ Disruptive Technology
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.เตรียมประชุมคณะกรรมการนัดพิเศษวันที่ 7 กรกฎาคมนี้ หลังจากที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงกลุ่ม ปตท.กำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางในอนาคตกลุ่ม (Strategic Thinking Session:STS) มาแล้ว โดยทิศทางแผนธุรกิจของ ปตท.ยังคงคล้ายเดิม แต่อาจจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruptive Technology) ส่วนการประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องโยกย้ายผู้บริหารของกลุ่ม ปตท.นั้น จะมีการประชุมอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับแผนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ นายเทวินทร์ กล่าวว่า คงต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากแผนเดิมที่เคยทำไว้ ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ของประเทศเสร็จ เนื่องจากก๊าซฯ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักของการผลิตไฟฟ้าอาจจะถูกกระทบจากปริมาณการใช้ที่ชะลอตัวลง หลังจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าแบบผลิตเองใช้เอง (Isolated Power Supply :IPS) ในกลุ่มโซลาร์รูฟท็อปมีมากขึ้น จนกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ส่วนแผนการศึกษานำเข้าก๊าซฯ ในรูปแบบของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รวมถึงการสร้างคลัง LNG ในรูปแบบเรือลอยน้ำ FSRU (Floating Storage Regisification Unit) ก็อยู่ในระหว่างทบทวนของกระทรวงพลังงาน
“อนาคตของ ปตท.จะยังคงอยู่ในกลุ่มธุรกิจพลังงาน เนื่องจากมีภารกิจผูกพันกับภาครัฐบาลที่จะต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน แต่รูปแบบของพลังงานจะเป็นลักษณะใดนั้น ต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” นายเทวินทร์ กล่าว
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ไอพีเอสมีประมาณ 2,600 เมกะวัตต์ ทั้งในส่วนภาคประชาชนและโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ขณะที่พลังงานทดแทนของประเทศผลิตเข้าระบบแล้วเดือนเมษายน 2561 ประมาณ 7,134 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ กกพ.ทำโมเดลจำลองแผนเดินเครื่องพลังงานทดแทนและไอพีเอส เพื่อเตรียมแผนการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในอนาคตที่จะมีพลังงานทดแทนเข้าระบบเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะมีระบบสมาร์ทกริด โดยแบบจำลองนี้ได้เปรียบเทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก ) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 กับการใช้ไฟฟ้าในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2561 พบว่าทั้งพลังงานทดแทนและไอพีเอสมีผลทำให้การเดินเครื่องของระบบการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หายไปประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็นส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ 1,000 เมกะวัตต์ ที่เหลือเป็นของไอพีเอสและพลังงานทดแทนรูปแบบอื่น ๆ
นอกจากนี้ จากการศึกษาดังกล่าว ก็พบว่าประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า( plant factor) พลังงานทดแทนมีความแตกต่างกัน โดยชีวมวลอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 พลังงานแสงอาทิตย์ร้อยละ 16 ก๊าซชีวภาพ ร้อยละ 30 และพลังงานลมร้อยละ 20
“ผลศึกษาจะต้องนำมาเตรียมพร้อม เพราะหากพลังงานทดแทนโดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป โซลาร์ฟาร์มมีการใช้มากขึ้นเรื่อย จะทำให้โรงไฟฟ้าในระบบมีการใช้น้อยลงในช่วงมีแดด แต่หลังบ่ายสี่โมงเป็นต้นไป โรงไฟฟ้าหลักต้องเตรียมพร้อม เพื่อรองรับไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ลดลง โรงไฟฟ้าเหล่านี้ ต้องเตรียมพร้อมผลิตตลอดเวลา แต่ผลิตแล้วไม่ได้จ่ายไฟ ก็จะมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพ กระทบต้นทุนค่าไฟฟ้า รวมถึงต้นทุนสายส่งที่ลงทุนไปแล้ว กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมก็ต้องมาเตรียมพร้อมว่าจะดำเนินการอย่างไรในอนาคต” นายวีระพล กล่าว.-สำนักข่าวไทย