รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 4 ก.ค.- ปลัดกระทรวงสาธารณสุขตรวจความพร้อมโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ พร้อมให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงาน เผย สุขภาพทั้ง 13 คน ไม่น่าเป็นห่วง แพทย์ที่เข้าไปในถ้ำ ไม่แจ้งว่าต้องดูแลใครเป็นพิเศษ ขณะที่ หลายโรงเรียนในจังหวัดเชียงราย ยกกรณีนี้เป็นตัวอย่าง สอนวิธีการเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน และทำความเข้าใจ ใครคือผู้ประสบภัย ใครคือฮีโร่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (4 ก.ค.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่จะให้การรักษาทีมเยาวชนหมูป่า อะคาเดมี และผู้ฝึกสอน ทั้ง 13 คน เมื่อได้รับการช่วยเหลือออกจากถ้ำหลวง ขุนน้ำ-นางนอน เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และตรวจความพร้อมของโรงพยาบาล มี นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง และนพ.ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ให้การต้อนรับ และถือเป็นครั้งแรก ที่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าไปสังเกตการณ์ภายในห้องพักผู้ป่วย ที่ชั้น 8 ของอาคารอุบัติเหตุฉุกเฉิน 14 ชั้น ซึ่งจัดเป็นที่สำหรับให้การรักษาทั้ง 13 คน
นพ.เจษฎา ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ในการช่วยเหลือดูแลทั้ง 13 คน และยืนยันว่า โรงพยาบาลมีความพร้อม และได้ซักซ้อมแผนรับ-ส่งตัวทั้ง 13 คน อย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา
นพ.เจษฎา กล่าวว่า ไม่เพียงแต่การเตรียมให้การดูแลทั้ง 13 คน ยังได้เตรียมพร้อมสำหรับผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดด้วย โดยได้จัดทำบัตร ข้อปฏิบัติในการดูแลตัวเอง ให้กับผู้ปฏิบัติงานได้ตรวจเช็คเบื้องต้น หากพบว่ามีอาการตามที่ระบุไว้ กฌสามารถมาพบแพทย์ได้ทันที เพราะภายในถ้ำ ถือเป็นพื้นที่พิเศษ มีเชื้อโรคสะสมอยู่มาก จึงต้องควบคุมโรค และต้องดูแลตัวเอง
“หากทั้ง 13 คนเข้ามารับการรักษา ภายใน 24 ชั่วโมงแรก จะต้องถูกกักตัวอยู่ในห้องปลอดเชื้อ ตรวจคัดกรองโรค เก็บตัวอย่างเลือด เสมหะ และสารคัดหลั่งต่างๆ และจะต้องอยู่ดูอาการ 5-7 วัน ซึ่งแผนกโภชนการจะเตรียมอาหารอ่อนไว้ให้รับประทาน” นพ.เจษฎา กล่าว และว่า จากที่ดูคลิปของทั้ง 13 คน พบว่า ไม่มีแผลติดเชื้อ มีสุขภาพจิตที่ดี และแพทย์ที่เข้าไปในถ้ำ ไม่ได้แจ้งว่า จะต้องดูแลใครเป็นพิเศษ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุการณ์ติดถ้ำหลวง ของทีมเยาวชนหมูป่า อะคาเดมี และผู้ฝึกสอน ทั้ง 13 คน ทำให้หลายโรงเรียนในจังหวัดเชียงราย เช่น โรงเรียนบ้านสันโค้ง (เชียงรายจรูญราษฎร์) ได้ยกกรณีของทั้ง 13 คน มาเป็นตัวอย่างในวิชาอิสระ สอนวิธีการเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน และสอนเรื่องการมีจิตอาสา ซึ่งเด็กๆ ต่างให้ความสนใจ และมีความเข้าใจมากขึ้นว่า ทั้ง 13 คน เป็นผู้ประสบภัย ไม่ใช่ฮีโร่ คนที่เป็นฮีโร่ตัวจริง คือ เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ และจิตอาสาที่มาช่วยเหลือทั้ง 13 คน ให้ปลอดภัย ถือเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเด็กๆ ที่ติดตามข่าวที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด .- สำนักข่าวไทย