กรุงเทพฯ 3 ก.ค. – บอร์ดไทยออยล์อนุมัติขยายกำลังกลั่นลงทุน 4.8 พันล้านดอลลาร์เสร็จปี 66 ด้านไออาร์พีซีลงทุน 5 ปี 3 พันล้านดอลลาร์ นับเป็นการลงทุนใหญ่แม้ราคาน้ำมันผันผวน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าปี 2563 จะเป็นวันเริ่มต้นที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ หรือ IMO มีมติให้ลดกำมะถัน ในน้ำมันเตาของเรือเดินสมุทรไม่เกิน 0.5% จากระดับ 3.5% โรงกลั่นต่าง ๆ ปรับแผนรับการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยคณะกรรมการ บมจ.ไทยออยล์เห็นชอบให้ลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (ซีเอฟพี ) เป็นหนึ่งในแผนรองรับไอเอ็มโอ ลงทุนประมาณ 4,825 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 160,279 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างปี 2562 และแล้วเสร็จไตรมาส 1/2566 เป็นการอัพเกรดน้ำมันเตาให้ดีเซลและน้ำมันอากาศยานเพิ่มขึ้น และส่งผลให้กำลังการกลั่นเพิ่มเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 275,000 บาร์เรลต่อวัน
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี กล่าวว่า นับเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เรือเดินสมุทรต่าง ๆ จะใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำหรือนำดีเซลเข้าไปร่วมผสม คาดการณ์ว่าส่วนต่างระหว่างน้ำมันดีเซลและน้ำมันดิบจะสูงขึ้นเท่าส่งผลดีต่อบริษัท โดยปัจจุบันไออาร์พีซีเป็นโรงกลั่นเดียวในประเทศที่มีหน่วยกำจัดกำมะถันในน้ำมันเตาและจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คาดว่าปี 2563 จะเป็นปีที่ดีที่สุดของบริษัท โดยตั้งเป้าหมายจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี ,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่มากกว่าระดับ 29,000 ล้านบาท จากประมาณ 20,000 ล้านบาท
“ปี 2563 คาดว่าจะเป็นปีที่ดีที่สุดของบริษัท เพราะนอกจากรายได้การขายน้ำมันจะดีขึ้นแล้ว จากโครงการลงทุนที่แล้วเสร็จ และการต่อยอด เช่น Everet Forever , Galaxy , โครงการ 4.0 ก็คาดว่าจะช่วยให้มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีก 300 ล้านดอลลาร์ในปี 2563” นายสุกฤตย์ กล่าว
สำหรับโครงการ Galaxy เป็นการซื้อกิจการหรือร่วมลงทุน (M&A) นั้น คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในการเข้าซื้อกิจการในประเทศอย่างน้อย 1 โครงการ ในไตรมาส 3/2561 จากปัจจุบันที่เจรจา 2-3 โครงการ โดยบริษัทมุ่งเน้นการทำ M&A ในประเทศเป็นหลักและโครงการ Galaxy เป็น 1 ใน 3 แผนหลักที่จะเม็ดเงินที่จะใช้ลงทุนใน 5 ปีข้างหน้าประมาณ 100,000 ล้านบาท หรือกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะมาจากเงินสดที่จะมาจากการดำเนินงานประมาณ 10,000 ล้านบาท/ปี และศักยภาพการกู้เงินอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท/ปี เนื่องจากมีหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำที่ระดับ 0.56 เท่าเมื่อสิ้นไตรมาส 1/2561 โดยเงินส่วนนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนในอัตราเท่า ๆ กัน คือ โครงการ Galaxy, โครงการ MARS และส่วนที่เหลือเป็นการสำรองไว้ลงทุนในอนาคต
โครงการ MARS เป็นโครงการสร้างโรงงานอะโรเมติกส์ ล่าสุดมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขนาดการผลิตจากเดิม จะผลิตพาราไซลีน 1 ล้านตัน/ปี เป็น 1.1-1.3 ล้านตัน/ปี และผลิตเบนซีน เพิ่มเป็น 300,000-500,000 ตัน/ปี จากเดิม 300,000 ตัน/ปี ซึ่งคาดว่าการออกแบบด้านวิศวกรรมโครงการ (Front End Engineering Design Process :FEED) จะเสร็จสิ้นปี 2561 คาดว่าจะหาผู้รับเหมาได้กลางปี 2562 ก่อสร้างเสร็จปี 2565 โครงการขยายกำลังการผลิตโรงงานโอเลฟินส์ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีกประมาณ 50% บื้องต้นคาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนประมาณ 300-400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาส 3/2561 หากดำเนินการก่อสร้างคาดว่าจะเสร็จต้นปี 2565
นายสุกฤตย์ ยังคาดผลดำเนินการ ไตรมาส 2/2561 จะดีกว่าไตรมาส 1/2561 แม้ว่ากำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ที่ไม่รวมผลกระทบจากสอกน้ำมันในไตรมาส 2/61 จะใกล้เคียงระดับ 14.08 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาสแรก แต่ไตรมาส 2 จะมีกำไรจากสตอกน้ำมันกว่า 11 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หลังจากราคาน้ำมันดิบดูไบปิดสิ้นไตรมาส 2 ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยของเดือนมิถุนายนนั้น ปรับขึ้นมาที่ประมาณ 74.4 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากระดับปิดสิ้นไตรมาส 1 อยู่ที่ 62.7 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
“บริษัทมั่นใจว่ากำไรสุทธิปีนี้จะมากกว่าปีที่แล้ว ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากไม่มีปิดซ่อมบำรุงโรงงานเดินเครื่องกลั่นน้ำมันได้เกิน 210,000 บาร์เรล/วัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 180,000 บาร์เรล/วันในปีที่แล้ว” นายสุกฤตย์ กล่าว
ขณะที่การดำเนินการปีนี้ได้รับผลดีทั้งปีจากโครงการที่ปรับปรุงเสร็จสิ้นในปีที่แล้ว ได้แก่ การขยายกำลังการผลิตโพลีโพรพิลีน (PP) อีก 300,000 ตัน/ปี , โรงไฟฟ้า 240 เมกะวัตต์ ,การติดตั้งหอกลั่น Max Gasoline Mode เพื่อปรับปรุงน้ำมันเบนซินที่ยังมีส่วนประกอบที่หลากหลาย (gasoline components) ที่เดิมจะต้องส่งออกนั้น จะนำบางส่วนมาแยกสารบางประเภทออกเพื่อให้สามารถนำน้ำมันเบนซินกลับมาขายในประเทศเพิ่มขึ้น รองรับการใช้เบนซินที่เติบโต ตลอดจนโครงการ EVEREST เพื่อเพิ่มขีดความสามารถองค์กรในทุกด้านที่แล้วเสร็จทั้งหมดเมื่อปลายปีที่แล้ว.-สำนักข่าวไทย