กรุงเทพฯ 30 มิ.ย.-คณะกรรมการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ เพิ่ม ก.ร.ตร. เป็นกลไกใหม่แก้ทุกข์ประชาชน
นายคำนูณ สิทธิสมาน คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ….. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า กลไกใหม่แก้ทุกข์ประชาชน 2 ด้านของเหรียญในการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ที่คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ตั้งธงไว้ตั้งแต่วันประชุมนัดแรก เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา คือ ด้านหนึ่งแก้ทุกข์ของตำรวจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมภายในองค์กร และอีกด้านหนึ่งแก้ทุกข์ของประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากตำรวจ
นายคำนูณ กล่าวว่า โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งโยกย้าย และการจัดระเบียบราชการภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มกลไกใหม่ คือ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์ของตำรวจ แทนที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เป็นการตอบโจทย์ในด้านแก้ทุกข์ของตำรวจ และช่วงนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีมติเพิ่มกลไกใหม่ คือ คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ในด้านแก้ทุกข์ของประชาชน ขณะเดียวกันขอให้ประชาชนเป็นหูเป็นตาเพื่อให้ตำรวจประพฤติปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมด้วย
“ในกรณีที่บุคคลใดไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำ หรือไม่กระทำการของข้าราชการตำรวจอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือพบเห็นข้าราชการตำรวจประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำผิดวินัย หรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ ให้มีสิทธิร้องเรียนต่อ ก.ร.ตร. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ร.ตร.กำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นและไม่เป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควร” นายคำนูณ กล่าว
นายคำนูณ ยังโพสต์รายละเอียดของบทบัญญัติมาตราหลักที่กล่าวถึงหน้าที่และอำนาจของ ก.ร.ตร. ว่ามีองค์ประกอบ 10 คน ประกอบด้วย 1.บุคคลผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมซึ่งได้รับการคัดเลือกจากการประชุมร่วมกันของผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จำนวน 1 คน 2.อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หรือเทียบเท่าขึ้นไปซึ่งได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ (ก.ต.) จำนวน 1 คน 3.อดีตอัยการพิเศษฝ่ายหรือเทียบเท่าขึ้นไปซึ่งได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) จำนวน 1 คน 4.อดีตข้าราชการตำรวจในตำแหน่งตั้งแต่ผู้บัญชาการหรือเทียบเท่าขึ้นไปซึ่งได้รับเลือกจากข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรทั่วประเทศ จำนวน 3 คน ทั้งนี้ ให้เลือกในคราวเดียวกับการเลือก ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิที่กำหนดไว้แล้วว่าให้ดำเนินการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 5.ทนายความผู้มีอายุการทำงานไม่น้อยกว่า 20 ปีซึ่งได้รับการคัดเลือกจากสภาทนายความ จำนวน 1 คน 6.ผู้แทนระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบลซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล จำนวน 2 คน โดยอย่างน้อย 1 คนต้องเป็นสตรี 7.จเรตำรวจแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ ก.ร.ตร.
นายคำนูณ กล่าวว่า ส่วนคณะกรรมการมีวาระ 4 ปี ดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว ให้คณะกรรมการคัดเลือกกรรมการตามข้อ 1 – 4 คนหนึ่งเป็นประธาน ก.ร.ตร. โดยกรรมการตามข้อ 1-4 ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา ให้สำนักงานจเรตำรวจทำหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการ ช่วยเหลือ และสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ร.ตร. และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ ก.ร.ตร.มอบหมาย ซึ่งกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ก.ร.ตร. และผลหลังจากนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียด เมื่อมีมติแน่นอนแล้วจะได้รายงานให้ทราบต่อไป.-สำนักข่าวไทย