กรุงเทพฯ 28 มิ ย.- โครงการนำร่อง ให้ กฟผ. นำเข้าแอลเอ็นจี มีแววชะลอ หลัง กกพ.ยังไม่ตอบเรื่องภาระต้นทุนค่าไฟ และ กพช. ไม่ชี้ชัดให้นำเข้าในปีนี้ ผู้ว่า กฟผ.คนใหม่ ตอกย้ำปรับองค์กรรับคลื่นความเปลี่ยนแปลง ที่ล่าสุดกำลังผลิตหดเหลือร้อยละ38 แต่พนักงานยังสูงกว่า 2 หมื่นคน
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนที่ 14 เปิดแถลงนโยบายเป็นครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งโดยระบุว่า การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ตามแผนจะนำเข้าแนวทางปฏิบัติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2560 ที่มอบหมายให้ กฟผ. เป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี เพื่อนำร่องการเปิดเสรีก๊าซ ตามข้อกำหนดของรัฐบาลที่เปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้คลังและท่อก๊าซของ ปตท.(Third Party Access) ตามมติแล้วไม่ได้กำหนดให้ กฟผ.ต้องเข้าในปี 2561 อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กฟผ. ได้พยายามปฏิบัติตาม โดยวางแผนนำร่องเข้ามาปีนี้ 7 หมื่นตัน แต่ก็ต้องรอความชัดเจนจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ว่าจะพิจารณาในเรื่องภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าอย่างไร หากต้นทุนแพงขึ้นรวมทั้งปัญหาก๊าซตามสัญญาอื่นๆหากนำเข้ามาแล้วมก๊าซฯในส่วนเดิมเหลือใช้
“กกพ.ยังไม่ชี้ชัดว่าภาระค่าไฟฟ้าจะทำอย่างไร ซึ่ง กฟผ.ก็รออยู่ แต่อย่างไรก็ตาม มติ กพช.ไม่ได้ระบุชัดว่า กฟผ.ต้องนำเข้าในปีนี้”นายวิบูลย์กล่าว
นายวิบูลย์ กล่าวว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้องค์กรต่างๆ รวมถึง กฟผ. ต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ในส่วนองค์กรได้ว่าจ้างที่ปรึกษา “ไพรส์วอเตอร์เฮ้าส์” มาศึกษา ทำอย่างไรให้ปรับแข่งขันได้ ลดต้นทุนอย่างไร โดยในส่วนพนักงานปัจจุบันมี 22,000 คน ใน 5 ปีนี้จะเกษียณเหลือ 16,000 คน จะดำเนินอย่างไรจะรับคนใหม่ทดแทนส่วนใด โดยในปีนี้ไม่ได้มีการรับคนใหม่แต่ปีต่อไปจะดำเนินการอย่างไร
โดยในด้านสังคม กฟผ. จะปรับวิธีสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อโครงการต่างๆ ในรูปแบบใหม่ ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแล้ว โดยจะมุ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ด้วยการสื่อสารสองทางให้ความรู้สร้างความเข้าใจกับชุมชนและสังคม ให้ได้รับทราบข้อมูลโครงการทุกประเด็น ทั้งข้อดีและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเปิดเผย โปร่งใส ชุมชนสามารถซักถามแสดงความคิดเห็นได้โดยตรง ให้ใช้สิทธิชุมชนตามกฎหมายอย่างเต็มที่ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงร่วมของชุมชนที่ชัดเจนก่อนจะทำการศึกษา EIA – EHIA เชื่อว่าหากชุมชนยอมรับตั้งแต่ต้น จะทำให้ดำเนินโครงการต่างๆ ตาม PDP ได้ประสบความสำเร็จ
สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (Disruptive Technology) ทำให้พลังงานหมุนเวียนเข้ามา มีบทบาทมากขึ้น กฟผ. จะพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อให้การเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนนี้เป็นไปอย่างราบรื่น เช่น พัฒนาโครงการระบบส่งไฟฟ้ารองรับพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP ให้แล้วเสร็จตามกำหนด พัฒนาระบบส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ ให้เข้มแข็ง พัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดให้การผลิตและจ่ายพลังงานไฟฟ้ามีเสถียรภาพ พัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น รวมถึงจะนำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบผลิตและส่งไฟฟ้า และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมาใช้ รวมถึงต่อยอดนวัตกรรมเดิมที่ประสบความสำเร็จแล้วมาสร้างเป็นธุรกิจใหม่ๆ ควบคู่กันไปด้วยให้องค์กรมีการเติบโต
“ท่ามกลางความท้าทายในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก กฟผ. จะไม่เดินเพียงลำพัง แต่จะแสวงหาพันธมิตรในการก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน เช่น โครงการโซลาร์ลอยน้ำที่ทำร่วมกับเอสซีจี ความร่วมมือกับ ปตท.ในด้านจัดหาพลังงานเป็นต้น” ผู้ว่า กฟผ. กล่าว
ผู้ว่า กฟผ. กล่าวด้วยว่า ในขณะนี้กำลังผลิตของ กฟผ. ลดต่ำลงเหลือร้อยละ 38 หาดไม่มีโครงการใหม่จะลดลงเรื่อยๆกระทบต่อรายได้ กฟผ. ก็ต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด และต้องทำควบคู่กับนโยบายรัฐบาลในการดูแลความมั่นคงซึ่งในแผนพีดีพีฉบับใหม่นี้ รัฐบาลมอบให้ กฟผ.สร้างโรงไฟฟ้ามั่นคงในแต่ละภาค ซึ่งต้องยอมรับว่ารูปแบบจะเป็นอย่างไรต้องรอความชัดเจนของแผนพีดีพีด้วย. – สำนักข่าวไทย