กรุงเทพฯ 19 มิ.ย. – กรมโรงงานฯ เตรียมทบทวนกฎระเบียบควบคุมการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายและการกำจัดข้ามแดน คาดรู้ผลภายในเดือนนี้
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะทบทวนกฎระเบียบการควบคุมการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายและการกำจัดข้ามแดนร่วมกับคณะอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซลเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อเป็นทิศทางในการกำหนดนโยบายการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นวัตถุอันตราย เช่นเดียวกับกรณีแบตเตอรี่ตะกั่ว – กรด โดยคาดว่าจะรู้ผลภายในเดือนมิถุนายนนี้ นอกจากนี้ ภายในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคมนี้ยังเร่งเดินหน้าตรวจสอบความถูกต้องโรงงานที่รับรีไซเคิลซากอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 148 แห่ง ในจังหวัดนครปฐม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ว่าดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
สำหรับบริษัทนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำผิดและตกเป็นข่าวก่อนหน้านี้ ทาง กรอ.มีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตบริษัทนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ไปแล้ว 5 ราย ได้แก่ บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท โอ.จี.ไอ จำกัด บริษัท เจ.พี.เอส เมทัลกรุ๊ปอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด และบริษัท เอส.เอส.อิมปอร์ตเอ็กปอร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยไม่ให้ทั้ง 5 บริษัทนี้นำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์อีกเป็นระยะเวลา 1 ปี เพราะกระทำผิดเงื่อนไขส่งซากอิเล็กทรอนิกส์ให้กับโรงงานอื่นที่ไม่มีใบอนุญาตคัดแยกแทน
ส่วนโรงงานที่รับซากอิเล็กทรอนิกส์จาก 5 โรงงานดังกล่าวมาคัดแยกหรือครอบครอง โดยที่ไม่มีใบอนุญาตตามอนุสัญญาบาเซล กรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดออกคำสั่งตามมาตรา 52 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ให้ส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีไว้ในครอบครองคืนบริษัทต้นทางกว่า 14,000 ตัน นอกจากนี้ กรอ.ยังร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทราออกคำสั่งให้ บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด ส่งซากอิเล็กทรอนิกส์กลับคืนบริษัทต้นทางภายใน 30 วัน หลังจากได้รับคำสั่ง โดย กรอ.จะกำชับเรื่องกระบวนการขนส่งให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานของกรมโดยการใช้ระบบ GPS พร้อมทั้งให้ทางบริษัทจัดส่งบันทึกเส้นทางการเดินรถตั้งแต่ต้นทางจนถึงบริษัทผู้นำเข้า เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งระหว่างทางขนส่งอย่างเข้มงวด
นายมงคล กล่าวว่า กรมโรงงานฯ ยังส่งเจ้าหน้าที่ร่วมกับกรมศุลกากรประจำการที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อร่วมตรวจสอบตู้สินค้าที่อาจเข้าข่ายต้องควบคุมตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พร้อมลงพื้นที่จังหวัดนครปฐม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี เพื่อตรวจสอบความถูกต้องทั้ง 148 โรงงานที่รับรีไซเคิลซากอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย.-สำนักข่าวไทย