นนทบุรี 18 มิ.ย. – อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเผยยอดการใช้สิทธิเอฟทีเอส่งออก 4 เดือนของปี 61 เพิ่มขึ้น และจีเอสพีส่งออกพุ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ในช่วง 4 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-เม.ย.) ว่า ไทยมีการส่งออกไป 17 ประเทศ ซึ่งเป็นคู่เจรจาเอฟทีเอ มูลค่า 45,695.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งมีมูลค่า 40,516.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอ มูลค่า 21,706.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.33 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73.06 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิภายใต้ เอฟทีเอที่มีมูลค่าถึง 29,709.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ภายใต้กรอบความตกลงเอฟทีเอที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน 8,090.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาเซียน-จีน 5,364.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทย-ออสเตรเลีย 3,006.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทย-ญี่ปุ่น 2,285.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอาเซียน-อินเดีย 1,156.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และประเทศคู่ค้าที่มีอัตราการใช้สิทธิเอฟทีเอสูงสุด 5 ประเทศ คิดตามสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ได้แก่ ชิลี ออสเตรเลีย เปรู ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิเอฟทีเอส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นมาจีนลดภาษีภายใต้เอฟทีเออาเซียน-จีนเพิ่ม โดยเฉพาะสินค้ากระปุกเกียร์และส่วนประกอบบางรายการที่เป็นสินค้าอ่อนไหว จากเดิมปี 2560 หากมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E ภายใต้เอฟทีเออาเซียน-จีนจะถูกเก็บอากรขาเข้าจีนร้อยละ 10 ลดลงเหลือร้อยละ 5 ในปี 2561 ส่งผลให้การใช้สิทธิเอฟทีเอ ส่งออกสินค้ากระปุกเกียร์และส่วนประกอบในช่วง 4 เดือนของปี 2561 ขยายตัวทะลุกว่า 5 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินค้าที่ครองแชมป์ใช้สิทธิเอฟทีเอสูงสุดอันดับแรกของแต่ละกรอบเอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน (ATIGA) รถยนต์ขนส่ง/รถกระบะ อาเซียน-จีน (ACFTA) ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ อาเซียน-อินเดีย (AIFTA) ลวดทองแดงเจือ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ส่งไปออสเตรเลีย เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณทำหรือชุบด้วยเงิน
อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ส่งไปนิวซีแลนด์ โพลิเอทิลีนความถ่วงจำเพาะ 0.94 ขึ้นไป อาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) แผ่นแถบทำด้วยอลูมิเนียมเจือ อาเซียน-เกาหลี (AKFTA) แผ่นไม้อัด (พาร์ติเคิลบอร์ด) ไทย-อินเดีย (TIFTA) เครื่องปรับอากาศ ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) รถยนต์ขนส่งของ น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เนื้อไก่และเครื่องในไก่ที่ปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย ไทย-เปรู (TPCEP) เครื่องรับวิทยุกระจายเสียง และไทย-ชิลี (TCFTA) รถยนต์สำหรับขนส่ง น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน
สำหรับการส่งออกไปยังประเทศที่ให้สิทธิจีเอสพีกับไทยในช่วง 4 เดือนของปี 2561 มีมูลค่ารวม 18,632.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งมีมูลค่า 16,461.16 ล้านเหรียญสหรัฐ และในจำนวนนี้เป็นการส่งออกโดยใช้สิทธิจีเอสพีมูลค่า 1,470.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง ร้อยละ 0.13 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55.38 ของการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิจีเอสพีทั้งหมด โดยตลาดส่งออกที่ใช้สิทธิจีเอสพีสูงสุด คือ สหรัฐมีมูลค่าการส่งออกรวม 1,368.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.12 คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 93 ของมูลค่าการใช้สิทธิจีเอสพีรวมทุกระบบ โดยกรมฯ ขอแนะนำผู้ผลิตที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอ หรือส่งออกไปประเทศที่ให้สิทธิจีเอสพีกับไทย ขอให้ตรวจสอบก่อนว่าสินค้าที่ตัวเองผลิตและส่งออกนั้นได้รับสิทธิพิเศษภายใต้เอฟทีเอหรือจีเอสพีหรือไม่ ถ้าได้ก็ควรที่จะขอใช้สิทธิประโยชน์ เพื่อลดต้นทุนและสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ เมื่อเทียบกับสินค้าของคู่แข่งที่ไม่ได้ลดหย่อนภาษีภายใต้เอฟทีเอหรือจีเอสพีได้.-สำนักข่าวไทย