กรุงเทพฯ 15 มิ.ย.- “สมคิด” ปาฐกถาในการประชุม ACMECS CEO Forum ย้ำ ความสำคัญของความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค ที่จะนำไปสู่การรับมือความท้าทายที่มีประสิทธิภาพ ระบุ ภาคเอกชนจะต้องเป็นพระเอกในการขับเคลื่อน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางในอนาคต การส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของสมาชิกลุ่มน้ำโขง” ในการประชุม ACMECS CEO Forum วันนี้ (15 มิ.ย.) ว่า ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เอเชียได้กลายเป็นจุดหมายใหม่ของเศรษฐกิจโลก การเติบโตหลักๆ มาจาก จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย แต่ปัจจุบันประเทศในกลุ่มแม่น้ำอิรวดี เจ้าพระยา และเเม่น้ำโขง มีบทบาทมากขึ้น มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยสูงถึง ร้อยละ 6-8 ต่อปี ถือว่าสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน
“ประเทศไทยก็มีพัฒนาการการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์ทางการเมืองที่สงบ จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการร่วมมือของกลุ่ม ACMECS เพื่อสร้างความเจริญเติบโตระหว่างประเทศมากขึ้น และเชื่อมต่อไปยังประเทศในภูมิภาคอื่นๆ” นายสมคิด กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายสมคิด กล่าวว่า ประเทศในกลุ่ม ACMECS ยังคงต้องเผชิญกับความท้ายทายที่สำคัญอย่างความเหลื่อมล้ำ และความสามารถในการแข่งขันภายในสมาชิกประเทศ รวมถึง กระแสการปกป้องทางการค้าจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และ เทรนด์ของดิจิทัลใหม่ๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละประเทศต่างมีนโยบาย และมาตรการในการรับมือที่แตกต่างกัน แต่การที่จะรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีความเชื่อมโยงกันละกัน
นายสมคิด กล่าวว่า การประชุมครั้งล่าสุดที่ฮานอย ประเทศเวียดนาม ได้มีการออกแผนแม่บทระยะ 5 ปี ที่จะขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างอนุภูมิภาค ด้วยการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ เชื่อมโยงโดยสอดรับกันทางยุทธศาสตร์ แบบ Win – Win และการสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยจะผลักดันให้เกิดเป็นกองทุน ACMECS TRUST FUND ขึ้น เพื่อให้เป็นตัวกลางที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายสมคิด กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังจะเกิดความร่วมมือกันทางด้านภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านการกระจายนักเดินทางต่างชาติที่เข้ามาไทย ถึง 35 ล้านคน ซึ่งได้สร้างรายได้มากถึงร้อยละ 15-20 ต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ20 ของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ให้ได้เดินทางไปยังภูมิภาคอื่นๆ ในกลุ่มสมาชิกมากขึ้น ไม่กระจุกตัวอยู่แต่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง ด้วยการกำหนดจุดท่องเที่ยว หรือ landmark ร่วมกัน และพัฒนาเส้นทางคมนาคมให้มีความเชื่อมโยง
“ความร่วมมือในครั้งนี้ ภาคเอกชนจะต้องเป็นพระเอกในการขับเคลื่อน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการป้องกันอุปสรรคจากการเคลื่อนย้ายแหล่งเงินทุน และกำลังแรงงาน อันจะนำไปสู่ One Single ACMECS จนขยายผลเกิดเป็น One Asean ซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดในการก่อตั้งประชาคม และประชาชนทุกภาคส่วนจะได้รับประโยชน์สูงสุด” นายสมคิด กล่าว .- สำนักข่าวไทย