กรุงเทพฯ 14 มิ.ย.-ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 8 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา ระหว่างวันที่ 15-16 มิ.ย.นี้ ภายใต้หัวข้อ “การก้าวสู่ประชาคมแม่โขงที่เชื่อมโยงกัน” โดยจะเสนอแผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี
การประชุมยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMECS ริเริ่มขึ้นจากประเทศไทยเมื่อปี 2546 มีประเทศอาเซียนในลุ่มน้ำโขง 5 ประเทศเป็นสมาชิก ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ สร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามแนวชายแดน ลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก และส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน
การประชุม ACMECS ครั้งที่ 8 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ จะมีเวทีย่อยสำหรับภาคเอกชน หรือ ACMECS CEO Forum ภายใต้หัวข้อ “เสริมสร้างความเชื่อมโยงทุกมิติ เพื่ออนาคตร่วมกันของสมาชิกกลุ่มแม่น้ำโขง” ซึ่งจะเป็นเวทีที่ผู้นำ ภาครัฐ และผู้แทนภาคเอกชนของแต่ละประเทศสมาชิกจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสริมสร้างความสัมพันธ์เครือข่ายการค้า การลงทุนระหว่างกัน ก่อนจะนำผลการหารือเข้าสู่ที่ประชุมระดับผู้นำ ACMECS ในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ ภายใต้หัวข้อ “การก้าวสู่ประชาคมแม่โขงที่เชื่อมโยงกัน”
และในฐานะที่ไทยเป็นประธาน ACMECS ปีนี้ ได้เสนอให้จัดทำแผนแม่บท ACMECS สำหรับ 5 ปีข้างหน้า (ค.ศ.2019-2023) ซึ่งจะเป็นแผนแม่บทฉบับแรกของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำแม่โขง เพื่อร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เป็นไปตามความต้องการในการพัฒนาของแต่ละประเทศ
สำหรับแผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี ประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคม รวมถึงโครงสร้างดิจิทัล และด้านพลังงาน การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ ปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดึงดูดการลงทุน พัฒนาภูมิภาคให้ยั่งยืนและนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตร
ส่วนมิติใหม่ที่สำคัญ คือ การจัดตั้งกองทุน ACMECS Fund และกองทุนทรัสต์ เพื่อระดมทุนจากประเทศนอกอนุภูมิภาค องค์กรระหว่างประเทศ มาช่วยพัฒนาแผนแม่บท ซึ่งสิ่งที่ประชาชนจะได้รับคือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตามแนวพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก และเศรษฐกิจตอนใต้
การประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งนี้จะมีการรับรองเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญากรุงเทพ และแผนแม่บท ACMECS Master Plan ระยะ 5 ปี เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิก CLMTV ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียนและของโลก ที่ปัจจุบันมีการเติบโตร้อยละ 6-8 ต่อปี.-สำนักข่าวไทย