กรุงเทพฯ 13 มิ.ย.-ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าและบริการสามารถยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลแผนกคดีผู้บริโภคได้ เช่น คดีที่ผู้เสียหายแบบกลุ่มฟ้องบริษัทผู้ผลิตโลชั่นที่ผสมสารโคลเบทาซอล ศาลคดีผู้บริโภคนี้เอื้อประโยชน์ให้ผู้บริโภค เกิดเหตุที่ไหนฟ้องได้ที่นั่น ไม่ต้องใช้ทนาย ติดตามในรายงานพิเศษ “อันตรายสุขภาพ ฟ้องศาลคดีผู้บริโภค” วันนี้เสนอเป็นตอนสุดท้าย
การทลายเครือข่ายเมจิกสกินสั่นสะเทือนวงการอาหารเสริมและความงาม ทั้งผู้ผลิต ผู้แทนจำหน่าย คนดังรีวิวสินค้า และสร้างผลกระทบให้ผู้บริโภคจำนวนมาก การโฆษณาเกินจริง แหล่งผลิตไม่ได้มาตรฐาน เลข อย.ปลอม สินค้าไม่ตรงกับฉลากและความผิดฐานฉ้อโกง
ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมลีน อ้างช่วยลดความอ้วน แต่การตรวจสอบพบผสมสารไซบูทรามีน ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท จนมีผู้บริโภคเสียชีวิตอย่างน้อย 4 ราย
การทลายแหล่งผลิตอาหารเสริมและเครื่องสำอางผิดกฎหมายยังคงเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง ยิ่งหากตรวจพบใส่สารอันตราย ยิ่งทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงภัยใกล้ตัว
คดีผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการใช้โลชั่นอวดอ้างสรรพคุณว่าใช้แล้วขาวใส แต่ผสมสารโคลเบทาซอล สเตียรอยด์ที่ปกติใช้รักษาโรคผิวหนังอักเสบ เริ่มจากผู้บริโภครวมกลุ่มกันฟ้องผู้ผลิตที่ศาลจังหวัดสตูล มีโจทก์หลัก 4 ราย และมีสมาชิกกลุ่ม 40 คน ประสงค์ฟ้องเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายให้ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 40 ล้านบาท
ศาลแผนกคดีผู้บริโภคตั้งมาตั้งแต่ปี 51 มากกว่าร้อยละ 90 เป็นคดีที่ผู้ประกอบการฟ้องผู้บริโภค เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมอธิบายว่า คดีโลชั่นยี่ห้อนี้ ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์รับฟ้อง ซึ่งเป็นคดีผู้เสียหายแบบกลุ่มคดีแรก และการพิจารณาคดีก็มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งผู้เสียหายที่ใช้โลชั่นไม่ว่าอยู่จังหวัดใดจะได้รับการคุ้มครอง หากศาลพิจารณาเงื่อนไขการชดใช้ค่าเสียหาย
ขั้นตอนการยื่นฟ้องต่อศาลแผนกคดีผู้บริโภคไม่ยุ่งยาก ฟ้องแบบเดี่ยวหรือกลุ่มก็ได้ หากเป็นกลุ่มต้องมีผู้เสียหาย 2 คนขึ้นไป และไม่ต้องเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองทุกคน หากมูลค่าความเสียหายไม่เกิน 300,000 บาท ยื่นฟ้องต่อศาลแขวง หากเกินกว่านั้นให้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัด และสามารถยื่นฟ้องด้วยวาจา โดยจะมีเจ้าพนักงานคดีบันทึกคำฟ้องให้ ไม่ต้องมีทนาย ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เกิดเหตุที่ไหน ฟ้องร้องได้ที่ศาลจังหวัดนั้นๆ และที่สำคัญภาระการพิสูจน์หลักฐานเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ เช่นผู้ผลิตโลชั่นที่เป็นจำเลยในคดีนี้
แต่ละปีมีผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอางจดแจ้งใหม่กับ อย.กว่า 300,000 รายการ ไม่นับรวมกลุ่มใต้ดินที่ลักลอบผสมสารอันตราย สวม อย.มาหลอกลวงผู้บริโภค ซึ่งมักได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ และยังใช้คนดังรีวิวสินค้า คดีที่รอการพิจารณาและอยู่ในขั้นตอนการเจรจาไกล่เกลี่ยในศาลแผนกคดีผู้บริโภคมีนับแสนคดี ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้สินค้าและบริการที่ดีมีคุณภาพ และหากมีปัญหาก็มีที่พึ่งเป็นศาลผู้บริโภค เพื่อรักษาสิทธิของตนเอง.-สำนักข่าวไทย