นครสวรรค์ 11 มิ.ย. – คลัง – ธ.ก.ส.ติดตามผลการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย พร้อมหนุนอาชีพสร้างรายได้ แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงการคลังและ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของชุมชนด้านการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งด้านการประกอบอาชีพ พร้อมติดตามการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรหลังการลงทะเบียน สวัสดิการแห่งรัฐของผู้มีรายได้น้อย ณ ชุมชนบ้านเขาหินกลิ้ง อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์
นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับปัญหาหนี้นอกระบบของประชาชน โดยกระทรวงการคลังได้เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายรัฐบาลอย่างจริงจัง โดยประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย พร้อมเชิญชวนให้เจ้าหนี้นอกระบบปรับตัวเข้าสู่การเป็นผู้ให้สินเชื่อในระบบ คาดภายใน 2 เดือนจะสำเร็จผล
นายสุรพงศ์ นิลพันธุ์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ธนาคารดำเนินตามนโยบายกระทรวงการคลัง ด้านการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย ด้วยการสร้างความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพ ซึ่งการดำเนินงานของ ธ.ก.ส.มีบทบาทช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรและสมาชิกกลุ่มเกษตรกร ภายใต้มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งด้านการพัฒนาตนเอง ให้ความรู้ทางการเงิน และส่งเสริมการออม มาตรการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อแก่กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร เพื่อจ้างงานผู้ที่มีรายได้น้อยในชุมชน รวมถึงการสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาอาชีพ และมาตรการลดภาระหนี้สินในระบบและนอกระบบ ด้วยโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของผู้มีรายได้น้อยในระบบของ ธ.ก.ส. โครงการชำระดีมีคืน โครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของ เกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน เป็นต้น ซึ่งผลการดำเนินการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้นอกระบบของ ธ.ก.ส. ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้นอกระบบ 512,502 ราย พบตัวแล้ว 452,388 ราย ช่วยเหลือแล้ว 168,264 ราย ยอดเงินสนับสนุนสินเชื่อ 34,877.26 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการ 165,663 ราย สามารถดูแลตัวเองได้ 118,461 ราย
ทั้งนี้ แนวทางการยกระดับชีวิตผู้มีรายได้น้อยของ ธ.ก.ส. ทั้ง 3 มาตรการ ได้ดำเนินการหลายพื้นที่ สร้างคุณค่าและสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน เกิดการจ้างแรงงาน และสร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยได้ประกอบอาชีพ เสริมรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยหนึ่งในชุมชนที่มีการพัฒนาอย่างชัดเจนคือชุมชนบ้านเขาหินกลิ้ง ซึ่งจากเดิมคนในชุมชนประกอบอาชีพหลัก คือ การทำนา ประสบกับภาวะปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ปัจจัยการผลิตมีราคาสูง จึงมีการรวมตัวตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเขาหินกลิ้ง เพื่อประกอบอาชีพเสริม สร้างรายได้เพิ่ม ตั้งเป็นกลุ่มอาชีพ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มผลิตข้าวปลอดสาร กลุ่มผลิตไม้กวาดดอกหญ้า กลุ่มผลิตน้าพริกไข่เค็มและกลุ่มผลิตตะกร้าเชือกฟาง ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มอาชีพสร้างรายได้ให้กับชุมชน 1,864,700 บาทต่อปี สร้างรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อยเฉลี่ย 14,640 บาทต่อปี และผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 790,600 บาท ต่อปี.-สำนักข่าวไทย