กทม. 8 มิ.ย. – ตลาดน้ำมันในประเทศวันนี้เป็นกลไกลตลาดเสรีทั้งระบบ สะท้อนราคาตลาดโลก ล่าสุดราคาตลาดโลกก็ดีดขึ้นอีก วันนี้จะย้อนอดีตการบริการจัดการ กับผู้อยู่ในวงการพลังงานมาอย่างยาวนาน
แต่ละยุคแต่ละสมัย การบริหารจัดการพลังงานล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ เพื่อความมั่นคงและรักษาเสถียรภาพราคา “คุรุจิต นาครทรรพ” อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ย้อนอดีตว่า เครื่องมือหนึ่งในการดูแล คือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่จัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2522 สมัยอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ช่วงนั้นวิกฤติ เพราะ OPEC ขึ้นราคาน้ำมันดิบ 4 ครั้ง รัฐบาลจำเป็นต้องขึ้นราคาตามตลาดโลก และเป็นเหตุให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ต้องลาออกกลางสภา
รัฐบาลต่อๆ มาตั้งโจทย์ทำอย่างไรให้คนไทยมีน้ำมันไม่ขาดแคลนบนราคามีเสถียภาพ ส่งเสริมการผลิตปิโตรเลียม จัดตั้งโรงกลั่นทดแทนการนำเข้า การปรับกลไกลราคาพลังงานสะท้อนตลาดโลก ทำให้เห็นชัดว่าช่วงไหนไม่อุดหนุนราคาการใช้พลังงานก็จะมากหรือน้อยตามสถานการ์ณราคา รวมถึงการหาทางออกของประเทศด้วยการส่งเสริมพืชพลังงาน กองทุนน้ำมันจึงเพิ่มบทบาทมาส่งเสริมส่วนนี้
การส่งเสริมการเปิดเสรีโรงกลั่นมีตั้งแต่ปี 2534 ต่างชาติ คือ เชลล์ เชฟรอน หรือคาลเท็กซ์ เข้ามาลงทุนเพื่อให้คนไทยได้ประโยชน์ รัฐบาลจึงให้ ปตท.ในฐานะหน่วยงานรัฐร่วมถือหุ้นด้วย ต่อมาสมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง ราคาน้ำมันดิ่ง โรงกลั่นขาดทุนอย่างหนัก เชลล์ขายโรงกลั่น บางจากและทีพีไอมีปัญหาด้านการเงิน ปตท.เข้าไปซื้อหุ้นร่วมแก้วิกฤติ กลายเป็นผู้ถือหุ้น 5 ใน 6 โรงกลั่น แต่เมื่อมีกระแสเรียกร้องลดการผูกขาด ปตท.ก็ขายหุ้นและถือเพียง 3 โรงกลั่นในปัจจุบัน
ธุรกิจโรงกลั่นต้องลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพตลอดเวลา ราคาขายก็ขึ้นๆ ลงๆ ตามภาวะตลาด ส่วนราคาที่รัฐประกาศที่ราคาสิงคโปร์บวกค่าต้นทุนนำเข้า เป็นเพียงสูตรที่ภาครัฐติดตามกำกับดูแล และส่งสัญญาณไม่ให้ราคาที่ถึงประชาชนมีกำไรมากเกินไป . – สำนักข่าวไทย