ก.พลังงาน 7 มิ.ย. – กระทรวงพลังงานยังไม่แจงรายละเอียดตั้ง RPS ดูแลไฟฟ้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ สร.กฟภ.ภาคใต้แต่งดำคัดค้านจนถึงสิ้นเดือนนี้ ชี้ชัดตั้งบริษัทขึ้นมาสุดท้ายประชาชนภาคใต้มีความเสี่ยงจากค่าไฟฟ้าที่อาจเพิ่มขึ้น
นายสมชาย อักษรภักดิ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภาคใต้ เขต 3 กล่าวว่า พนักงาน กฟผ.ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะยังแต่งชุดดำจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อคัดค้านแนวคิดของรัฐบาลในการจัดตั้งบริษัท RPS (Regional Power System) เพื่อบริหารจัดการระบบไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะไม่มีความชัดเจนว่าตั้งขึ้นแล้วประโยชน์อยู่กับใคร โดยหากในแง่ผู้ใช้ไฟฟ้า 500,000 รายในพื้นที่จะมีความเสี่ยง เพราะบริษัทนี้จะเข้ามาดูแลไฟฟ้าทั้งระบบ ซึ่งบริษัทจะต้องคำนึงถึงกำไรถึงจะอยู่ได้ แต่ปัจจุบันการจำหน่ายไฟฟ้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีกำไร มีการนำเงินจากนอกพื้นที่มาช่วยเหลือ
ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐในพื้นที่มีการจ่ายค่าไฟฟ้าล่าช้า ทาง กฟภ.ในฐานะรัฐวิสาหกิจก็เอื้อให้จ่ายล่าช้าได้ แต่หากเป็นบริษัทตั้งขึ้นมาแล้วจะดำเนินการรูปแบบนี้ได้หรือไม่ ซึ่งวันที่ 12 มิถุนายนนี้ ทาง สร.กฟภ.ภาคใต้จะพบผู้บริหาร กฟภ.เพื่อรับทราบการชี้แจงในเรื่องนี้ ขณะเดียวกันหากตั้งขึ้นเพื่อรองรับโรงไฟฟ้าชีวมวล หากเชื้อเพลิงมีราคาสูงขึ้นบริษัทรับซื้อต้องมาขายแพง ประชาชนก็ต้องซื้อไฟฟ้าแพงหรือไม่
“ตามแผนที่ตั้ง RPS ตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาวหรือพีดีพีที่ปรับปรุงหม่ ต้องโอนผู้ใช้ผู้ใช้ไฟฟ้า 500,000 ราย ไปบริษัทใหม่ แล้วพนักงาน กฟภ.ในพื้นที่ 500-600 คนจะถูกลอยแพหรือไม่ ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่จะได้รับการดูแลอย่างไร ก็ยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ และเรื่องเช่นนี้ควรให้คนในพื้นที่รับทราบก่อนดีหรือไม่” นายสมชาย กล่าว
ด้านนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า พื้นที่ไฟฟ้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่พิเศษ การจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาดูแลก็เพื่อสนับสนุนด้านความมั่นคงและเรื่องเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ขอชี้แจงรายละเอียด
ทั้งนี้ เอกสารของกระทรวงพลังงาน แจ้งว่า การจัดตั้งบริษัท RPS จะมีผู้ถือหุ้นประกอบไปด้วย กฟภ.และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หน่วยงานละร้อยละ 24.5 ส่วนอีกร้อยละ 51 ถือหุ้นโดยกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และในอนาคตวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จะเข้ามาถือหุ้นทดแทนกองทุนอนุรักษ์ฯ โดยทาง กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต.จะเป็นผู้คัดเลือกจัดตั้งขึ้นเพื่อกระจายรายได้และสร้างการเจริญเติบโตในท้องถิ่นกระจายอำนาจให้ชุมชนให้ชุมชนมีความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของและรักษาระบบไฟฟ้า. -สำนักข่าวไทย