ปทุมวัน 1 มิ.ย.-เวทีเสวนา‘จับเข่าคุยล่อซื้อ10ปี แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์หรือยัง’ เผยสถิติ 10 ปี ที่ล่อซื้อมีผู้หญิงขายบริการถูกจับถึง 3 หมื่นคน เรียกร้องรัฐยกเลิก แนะคุ้มครองผู้เสียหาย ด้วยกฎหมายแรงงาน
มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ เปิดเวทีเสวนา“จับเข่าคุย ล่อซื้อ 10 ปี แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์หรือยัง?”เนื่องจากเดือนมิถุนายน เป็นเดือนแห่งการต่อต้านการค้ามนุษย์และปีนี้ครบรอบ 10 กฎหมายค้ามนุษย์ โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน พร้อมจัดนิทรรศการผ้าปัก มิดะ ที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านผืนผ้า สะท้อนเหตุการณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง ซึ่งได้รับผลกระทบ จากการล่อซื้อบุกทลาย
น.ส.ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่า สถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทยที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะมีนโยบายต่อต้านการค้ามนุษย์ไว้เพื่อปกป้องสิทธิผู้หญิง แต่ผู้หญิงที่ถูกจับถูกตัดขาดจาก ครอบครัว ถูกคุมขัง ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่นานนับเดือน ภายใต้แผ่นป้ายที่ชื่อว่า”การคุ้มครองเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์” การกระทำเหล่านี้กลับเสมือน”การโยนเกลือเข้าไปในแผลสด แล้วเรียกว่าการช่วยเหลือ” และการบุกทลายถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
น.ส.ทันตา กล่าวต่อว่า ในไทยมีพนักงานบริการประมาณ 3 แสนคนที่ผ่านมามีการล่อซื้อพนักงานขายบริการและจับผู้เสียหายประมาณ300 คนต่อปี ซึ่งในแต่ละครั้งที่ล่อซื้อ กลับเกิดผลกระทบกับคนที่ไม่เกี่ยวข้องหลายร้อยราย เช่น กรณีวิคตอเรีย ซีเคร็ท จับผู้หญิง 113 คน ได้ผู้เสียหาย 8 คน ส่วนที่เหลือถูกจับข้อหามั่วสุมในสถานค้าประเวณี ทำให้10 ปีที่ผ่านมามีพนักงานบริการถูกจับไม่น้อยกว่า 3 หมื่นคน ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เพื่อช่วยคนที่ด้อยโอกาส แต่จะเห็นว่าการจับกุมไม่ได้เป็นการให้โอกาสแต่อย่างไร
มูลนิธิฯพร้อมเครือข่ายพนักงานบริการทั่วประเทศขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 ประเด็นหลัก คือ1.รัฐควรปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกับคณะกรรมการซีดอว์ คือให้หยุดการล่อซื้อและบุกทลายทันที และยกเลิกความผิดการค้าประเวณี โดยใช้กฎหมายแรงงานเข้ามาคุ้มครองผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ
2.รัฐและองค์กรเอ็นจีโอ ต้องหยุดทำการ “ล่อซื้อ” และกำหนดให้การล่อซื้อเป็นความผิดตามกฎหมายเพราะเป็นการร่วมกระทำความผิดและเป็นการสร้างหลักฐานที่ไม่สุจริต
และ3. รัฐ ต้องให้ความคุ้มครองผู้หญิงอาชีพบริการ ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อันไม่ถือว่า “ผู้ค้าประเวณี” เป็นผู้ผิด แต่เป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม .-สำนักข่าวไทย