กรุงเทพฯ 24 พ.ค. – ก.พลังงาน ยันค่าไฟปีนี้ไม่ปรับขึ้นตามราคาน้ำมันแน่นอน จับตาราคาต้นทุนสะท้อนค่าไฟต้นปีหน้า ด้านกบง.ควักเงินกองทุน 300 ล้านบาท อุ้มแอลพีจีให้อยู่ที่ราคา 363 บาท/ถัง 15 กก. เริ่ม 28 พ.ค. นี้
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ยืนยันค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ไม่ได้รับผลกระทบจากระดับราคาน้ำมันตลาดโลกที่สูงขึ้น เนื่องจากสูตรของราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าจะอิงราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือนย้อนหลัง จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าค่าเอฟทีงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2561 หรือจนถึงสิ้นปีนี้ จะยังไม่มีการปรับขึ้นแน่นอน แต่จะเห็นผลกระทบจากราคาน้ำมันจะสะท้อนไปยังราคาก๊าซฯ และค่าไฟในช่วงต้นปีหน้า
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันที่จะส่งผลต่อราคาก๊าซฯ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า และกระทบต่อค่าเอฟที เพื่อพิจารณารายละเอียดดูแลผลกระทบตามความเหมาะสม โดยยอมรับว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ผันผวนอยู่ในระดับสูงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในไทยเฉลี่ยปรับขึ้น 4 บาทต่อลิตร โดยเฉพาะดีเซลเพิ่มขึ้น 3.20 บาทต่อลิตร ก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 395 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม(กก.) หรือปรับขึ้น 40 บาทต่อถัง
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแนวโน้มราคาแอลพีจีในประเทศจะปรับลดลงตามแนวโน้มราคาแอลพีจีตลาดโลกในช่วงนี้ที่เริ่มปรับตัวลดลงแล้ว เนื่องจากประเทศแถบตะวันตกมีความต้องการแอลพีจีน้อยลง เพราะสภาพอากาศที่เริ่มร้อนขึ้นตามฤดูกาล
ส่วนกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลในโลกโซเชียลรณรงค์ไม่ให้เติมน้ำมันปั๊มปตท.ของบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) นั้น เรื่องนี้ประชาชนผู้บริโภคมีสิทธิ์เลือกใช้บริการตามกลไกตลาด โดยอาจเลือกใช้บริการน้ำมันยี่ห้อที่จำหน่ายในราคาถูกกว่า ขณะที่กระทรวงพลังงานยืนยันมีการส่งเสริมให้ผู้ค้าปลีกน้ำมันมีการแข่งขันกันอยู่แล้ว โดยกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) จะควบคุมคุณภาพของน้ำมันให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน พร้อมกับผ่อนผันให้ผู้ค้าแจ้งการปรับเปลี่ยนราคาน้ำมันขายปลีกล่วงหน้าได้ 1 วัน
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบนำเงินกองทุนในส่วนของแอลพีจีชดเชยราคาแอลพีจีให้อยู่ในระดับราคาถังละ 363 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม จากก่อนหน้านี้มีการขึ้นราคาไปอยู่ที่ระดับสูงถึง 395 บาทต่อถัง 15 กก. มีผลตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.2561 เพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพจากผลกระทบราคาก๊าซหุงต้มปรับขึ้น
“เนื่องจากราคาแอลพีจีตลาดโลกเร่ิมลดลงจาก 580 เหรียญสหรัฐต่อตัน มาอยู่ที่ 543 เหรียญสหรัฐต่อตัน และมีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาแอลพีจีถังขนาด 15 กก. น่าจะลดลงได้อีกประมาณ 20 บาท เบื้องต้น กบง.จึงคาดว่าจะใช้เงินกองทุนในส่วนของแอลพีจีอุดหนุนราคาแอลพีจีขนาดบรรรจุถัง 15 กก.ที่ 10 บาทต่อถัง 15 กก. ให้อยู่ที่ราคา 363 บาทต่อถัง 15 กก. จากปัจจุบันราคาแอลพีจีบรรจุถังขนาด 15 กก. ราคา 395 บาท คิดเป็นวงเงิน 300 ล้านบาท จากสถานะกองทุนแอลพีจีมีเงินทั้งสิ้น 551 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะดูแลราคาให้มีเสถียรภาพเป็นเวลา 2 เดือน แต่เชื่อว่าภายใน 2 เดือนนับจากนี้ แอลพีจีตลาดโลกจะปรับตัวลดลงในช่วงเข้าสู่ฤดูร้อน ทำให้รัฐจะอุดหนุนน้อยลงตามไปด้วย และเชื่อว่าราคาลดลงสู่ภาวะปกติที่ 353 บาทต่อถัง 15 กก. ดังนั้นในระยะยาวรัฐก็ไม่มีความจำเป็นต้องอุดหนุนแอลพีจีอีกต่อไป”
นอกจากนี้ ที่ประชุมกบง.ยังเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นราคาน้ำมันดีเซลต่อประชาชนด้วยการตรึงราคาดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคา 50% ของราคาที่จะปรับขึ้น ก่อนที่จะมีการจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลเกรดพิเศษ หรือบี 20 ให้รถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ต่ำกว่าดีเซลบี 7 จำนวน 3 บาทต่อลิตรช่วงต้นเดือนก.ค.นี้ เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกผันผวนปรับตัวสูงเกินระดับ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ณ วันที่ 24 พ.ค.มีราคาอยู่ที่ 29.79 บาทต่อลิตร
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานยืนยันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสถานะ 3.05 หมื่นล้านบาท โดยเป็นส่วนของแอลพีจี 500 ล้านบาท น้ำมันมีประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับการอุดหนุนราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 10 เดือนในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกไม่เกิน 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล . – สำนักข่าวไทย