รัฐสภาฯ 24 พ.ค.- สนช.มีมติเอกฉันท์รับหลักการวาระ 1 ร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ด้านสมาชิก สนช. ระบุ ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ถึงสารอันตรายและคำนึงถึงความปลอดภัยกรณีนำเข้า
เมื่อเวลา10.00 น. มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยนายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงหลักการและเหตุว่า พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการนำผ่าน การนำกลับเข้ามา และการส่งกลับออกไป รวมทั้งการโฆษณาวัตถุอันตรายไว้โดยเฉพาะ
ประกอบกับกลไกการควบคุมวัตถุอันตราย ยังไม่อาจขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำผ่าน การนำกลับเข้ามา และการส่งกลับออกไป เพื่อเป็นการลดภาระแก่ผู้ประกอบการ กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการโฆษณาวัตถุอันตรายให้เป็นธรรม ต่อผู้บริโภคยิ่งขึ้น และแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ยังมีข้อท้วงติงบางประเด็น พล.ร.อ.พัลลภ ติมศานนท์ สนช.เห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะสามารถบังคับใช้ เพื่อควบคุมวัตถุอันตรายโดยเฉพาะภาวะเป็นพิษจากสารพาราควอท ที่มีพิษต่อประชาชนอย่างรุนแรง ซึ่งต้องมีการประชาสัมพันธ์กฎหมายฉบับนี้ให้ประชาชนรู้เท่าทันสารอันตราย รวมถึงการนำเข้าวัตถุอันตราย ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน ต้องระบุหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุมวัตถุอันตรายอย่างรัดกุมและชัดเจน
ขณะที่ นายธานี อ่อนละเอียด สนช. กล่าวว่า วัตถุอันตรายทั้งหมดจะส่งผลต่อมนุษย์โดยตรง ซึ่งในมาตรา 19 อนุสาม ระบุว่า “ค่าเสียหายเบื้องต้นที่หน่วยงานของรัฐได้รับจากผู้รับประกันภายใน การที่หน่วยงานของรัฐเข้าช่วยเหลือ เคลื่อนย้าย บำบัด บรรเทา หรือขจัดความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน” ซึ่งได้นำบทบัญญัติดังกล่าวนี้ไปแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับในร่างพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐหรือไม่
ด้านนายมณเฑียร บุญตัน สนช. แสดงความห่วงใยในการใช้กฎหมายฉบับนี้ เนื่องจาก ยังไม่เห็นประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ เพราะขยะอิเล็กทรอนิคส์ส่งผลเสียต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม การนำเข้าวัตถุมีพิษอย่างยาฆ่าหญ้าจะสามารถระงับยับยั้งได้หรือไม่ เพราะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า ข้อสงสัยของสมาชิก สนช. ว่า การแก้ไขอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการวัตถุอันตรายจากเดิมเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการควบคุมวัตถุอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ปลัด อธิบดี ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมอยู่ในคณะกรรมการด้วย ซึ่งจะสามารถตรวจสอบวัตถุอันตรายได้ในทันที โดยไม่ต้องรอให้มีคำสั่ง อีกทั้ง ยังมีการควบคุมอย่างชัดเจนและควบคุมก่อนการออกโฆษณา โดยจะมีซุปเปอร์บอร์ดของกระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาดูแลอีกครั้งในการนำเข้าวัตถุอันตรายประเภทที่ 4
ขณะที่การอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตราย นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะเข้าไปดูในพื้นที่ว่าการนำเข้าสารเคมี มีลักษณะเป็นอย่างไร ส่วนการนำเข้าสารอันตรายมีระเบียบกำหนดไว้อย่างชัดเจน หากไม่เกิดประโยชน์ก็จะไม่นำเข้ามาในประเทศไทยอย่างแน่นอน ซึ่งรัฐบาลตรวจสอบอย่างรอบคอบ
ในที่สุดที่ประชุม สนช. มีมติรับหลักการวาระ 1 ร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. ด้วยคะแนน 195 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.วัตถุอันตราย จำนวน 23 คน พิจารณาแปรญัตติภายใน 7 วัน .-สำนักข่าวไทย