ศูนย์ฯสิริกิติ์ 27 ก.ย.-สมาคมผู้จัดพิมพ์หนังสือฯพร้อมจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 21 พบการอ่านมากขึ้น ถึงวันละ 66 นาที ย้ำหนังสือเล่มต้องปรับตัวถึงอยู่รอด เพราะเศรษฐกิจเเย่ลง
สมาคมผู้จัดพิมพ์เเละผู้จำหน่ายหนังสือเเห่งประเทศไทย เเถลงข่าวความพร้อมจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 21 ภายใต้เเนวคิด “เสนอหน้า” ความพิเศษปีนี้รวบรวมหนังสือดีเเละน่าอ่านจาก 406 สำนักพิมพ์ในประเทศ มาจัดจำหน่าย 934 บูธ เเละเป็นครั้งเเรกที่มีการจัดเเสดงผลงานปกหนังสือเเละรูปแบบดีเด่นจากโครงการ 100 Annual Book and Cover Design โดยคัดเลือกหนังสือปกสวยที่เคยตีพิมพ์ทั้งจากอดีตเเละปัจจุบัน โดยงานกำหนดจัดระหว่างวันที่ 13-24 ตุลาคม 2559 ที่ศูนย์การประชุมเเห่งชาติสิริกิติ์
นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์เเละผู้จำหน่ายหนังสือเเห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสถิติการอ่านของคนไทยจากสำนักงานสถิติเเห่งชาติเมื่อเดือนมีนาคมอยู่ที่ 66 นาทีต่อวัน ต่างจากเดิมที่ 37 นาที บ่งชี้ว่าคนไทยอ่านมากขึ้นเเต่อ่านจากสื่อออนไลน์ หนังสือพิมพ์เเละหนังสือเล่มตามลำดับ ในอนาคตหนังสือเล่มอาจเป็นธุรกิจที่ต้องปรับตัวมากขึ้น เช่นการปรับรูปเล่มให้น่าสนใจ จากที่ผ่านมานิตยสารสกุลไทยที่กำลังจะปิดตัวเพราะปัญหาเศรษฐกิจ เเต่ถึงอย่างไรหนังสือมีเสน่ห์มากกว่าอีบุ๊ค เพราะนักอ่านร้อยละ 90 อยากอ่านหนังสือผ่านรูปเล่มมากกว่าอีบุ๊ค
ขณะเดียวกันพฤติกรรมการอ่านของนักอ่านในอนาคตจะมีการอ่านมากขึ้นอย่างเเน่นอน ขณะเดียวกันรัฐบาลควรสนับสนุนการอ่านอย่างเป็นรูปธรรมด้วย เพราะมีคนในชนบทจำนวนมากเข้าไม่ถึงการอ่านหนังสือ ต่างจากประเทศเวียดนามที่ทุ่มงบประมาณด้านการอ่านอย่างเต็มที่
นายจรัญ กล่าวต่อว่า หนังสือที่น่าสนใจปีนี้มีหลากหลาย โดยเฉพาะหนังสือ 2 เล่มคือหนังสือยุทธศาสตร์นโยบายของจีน จากการประพันธ์ของซีเจี้ยนผิง ซึ่งเปิดตัวเเละได้รับการยอมรับใน 9 ประเทศทั่วโลก อีกเล่มที่น่าสนใจ คือเรื่อง”ทาง” หนังสือรวมเรื่องสั้นของซ้ายผ่านศึก หรือเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในวาระครบ 40 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 โดยปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน 2 ล้านคนตลอด 12 วัน เเละมียอดขายไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
ส่วนเเนวคิดเสนอหน้านั้น ต้องการถ่ายทอดเรื่องราวของผู้อยู่เบื้องหลังกว่าจะมาเป็นหนังสือ 1 เล่ม ต้องผ่านการทำงานหนักของ6 อาชีพได้เเก่ นักเขียน บรรณาธิการ นักออกเเบบกราฟิก นักแปล นักพิสูจน์อักษรเเละนักออกเเบบภาพประกอบ ก่อนจะมาสู่เบื้องหน้าของนักอ่าน ซึ่งทั้ง 6 อาชีพได้รับการบัญญัติเป็นอาชีพในราชกิจจานุเบกษา ในอนาคตจะมีการสอบประเมินเพื่อการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจหนังสือเเละสิ่งพิมพ์
ด้านนางสาวทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์เเละผู้จำหน่ายหนังสือเเห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลการวิจัยเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภคในการเข้าร้านหนังสือพบว่านักอ่านอ่านหนังสือเท่าเดิม เเต่มีเวลาอ่านน้อยลง ส่วนมากจะอ่านนวนิยายก่อนอ่านหนังสือประเภทเศรษฐกิจเเละที่มีเนื้อหาช่วงชีวิตที่เปลี่ยนไป งานมหกรรมหนังสือไม่มีผลต่อการเข้าร้านหนังสือ หากอยากได้หนังสือก็จะเข้าร้านหนังสือเลย ไม่ได้สนใจส่วน ลดในงาน คนที่เข้าร้านหนังสือประจำจะไม่เลือกซื้อจากชั้นหนังสือขายดี เเต่จะศึกษาข้อมูลมาจากบ้าน เมื่อถึงร้านก็หยิบเลือกเลย ต่างจากผู้ที่ไม่เข้าร้านหนังสือ ที่มักเลือกหนังสือตามชั้นขายดี โดยนักอ่านส่วนใหญ่ต้องการให้ร้านหนังสือมีความสัมพันธ์กับลูกค้ามากขึ้น เช่น การเเจ้งหนังสือเข้าใหม่หรืออื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมี .-สำนักข่าวไทย