ภูเก็ต 19 พ.ค.-ผบ.ทร.ห่วงกรณีเรือประมงจับฉลามวาฬในคลิปภาพแชร์โซเชียล ส่ง เสธ.ทร.ลงภูเก็ตหาข้อเท็จจริง ขณะที่มีการแจ้งความแล้วตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อความเป็นธรรมและให้เกิดความชัดเจน
เมื่อเวลา 10.00 น. (19 พ.ค.) ที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก เรือประมง เขต 3 (ภูเก็ต) ทางเข้าท่าเทียบเรือรัษฏา ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ เสนาธิการทหารเรือ พร้อม พล.ร.ท.ประยุธ ภู่เทียน ที่ปรึกษาศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) พล.ร.ต.เจริญพล คุ้มราษี รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 และ พล.ร.ต.บวร มัทวานุกูล รองผอ.รมน.จังหวัดภูเก็ต ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีภาพแชร์โซเชียลเรือประมงจับฉลามวาฬจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าอาจทำให้ฉลามวาฬตายได้ โดย น.อ.ภุชงค์ รอดนิกร หัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผน ศร.ชล.เขต 3 และ น.ท.นิโรจน์ หมุดหมิด รักษาราชการแทน หัวหน้าศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก เรือประมง เขต 3 (ภูเก็ต) หรือ PIPO รายงานการตรวจสอบเบื้องต้นว่า หลังจากที่ ศรชล.เขต 3 รับทราบ จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ PIPO เรียกเรือแสงสมุทร 3 เข้าจอดเทียบท่าที่ภูเก็ต และชุดสหวิชาชีพได้เข้าตรวจสอบไม่พบสัตว์น้ำ เครื่องมือประมงผิดกฏหมาย ตรวจสอบรายละเอียดอื่นๆ พบว่าถูกต้องตามระเบียบกฏหมาย ส่วนการสอบปากคำกัปตันเรือและลูกเรือชาวไทยและเมียนมาทั้งหมดให้การสอดคล้องกันว่า ขณะลากอวนบริเวณใกล้เกาะราชา ซึ่งอยู่ในจุดที่สามารถทำประมงได้ เมื่อยกอวนขึ้นเรือตามปกติพบว่ามีฉลามวาฬอยู่ภายใน จึงรีบช่วยเหลือเตรียมปล่อยลงทะเล แต่เนื่องจากน้ำหนักมาก จึงต้องใช้เครนยกขึ้น
ทั้งนี้ หลังการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองภูเก็ต ในข้อกล่าวหากระทำการอันสงสัยว่าเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2559 มาตรา 66 ประกอบกระทรวงเกษตรฯ เรื่องการ กำหนดชนิดสัตวเลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำหายาก หรือใกล้สูญพันธุ์ ที่ห้ามจับ หรือห้ามนำขึ้นเรือประมง พ.ศ.2559 ข้อ 1 อนุฯ 4 ปลาฉลามวาฬ โดยได้ทำการอายัด เรือทั้งสองลำและ สัตว์น้ำที่จับได้ในเรือไว้ชั่วคราวก่อนที่พนักงานสอบสวนฯ ล่าสุด สภ.เมืองภูเก็ตได้โอนย้ายคดีจาก สภ.เมืองภูเก็ต ไปยัง สภ.ฉลอง ท้องที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงตามขั้นตอน
จากนั้นคณะเสนาธิการทัพเรือได้ไปตรวจสอบจุดที่เรือประมงแสงสมุทร 2 และแสงสมุทร 3 จอดอยู่ เพื่อสอบถามข้อมูลจากลูกเรือเพิ่มเติม โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที
พล.ร.อ.พิเชฐ กล่าวว่า พลเรือเอกนริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการกองทัพเรือ ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เป็นห่วงเรื่องที่เกิดขึ้นจึงกำชับให้ลงพื้นเป็นห่วงเรื่องที่เกิดขึ้น ส่วนกรณีมีการแจ้งความนั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงของพนักงานสอบสวนขั้นตอน ซึ่งต้องดูทั้งเจตนาและพฤติกรรมด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ขณะนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องและรวบรวมพยานหลักฐานประกอบการพิจารณา หากพบกระทำความผิดจริง ก็จะดำเนินการตามโทษ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีการอบรมเรือประมงในจังหวัดภูเก็ตเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสัตว์ทะเลต้องห้าม อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว.-สำนักข่าวไทย