กรุงเทพฯ 19 พ.ค.- ช่วงเวลาไม่ถึง 1 เดือน
ราคาน้ำมันทยอยปรับขึ้นถี่ กลุ่มเบนซิน ขึ้น2.10 บาท ดีเซลขึ้น 2.30 บาท การงดแจ้งราคาน้ำมันล่วงหน้า ไม่ได้ผล
ราคาขายปลีกหน้าปั๊มยังคงเท่ากัน ผู้เชี่ยวชาญแนะเติมเต็มถัง
ชี้หากราคาน้ำมันดิบแตะ 90 ดอลลาร์/บาร์เรล ราคาในไทยจะขึ้นอีก 3 บาท/ลิตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน
ออกนโยบายให้ปั๊มต่างๆ งดแจ้งการปรับเปลี่ยนราคาน้ำมันล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 26
เม.ย.2561 โดยหวังว่าการแข่งขันด้านราคา ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ราคาน้ำมันหน้าปั๊มแต่ละท้องที่จะไม่เท่ากัน
ราคาอาจลดลงได้ 20-25 สตางค์ต่อลิตรนั้น ล่าสุดในวันนี้ (19 พ.ค.) เว็บไซต์สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
(สนพ.) www.eppo.go.th รายงานราคาน้ำมันของผู้ค้ามาตรา 7 ปรากฏว่ามีการปรับขึ้นจากวานนี้ ในอัตราที่เท่ากัน คือ กลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ 60
สตางค์ และดีเซล 40 สตางค์ และตั้งแต่การประกาศนโยบายนี้ ซึ่งเกิดขึ้นช่วงเดียวกับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกขยับสูงขึ้น
ใกล้ 80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เงินบาทอ่อนค่าตามดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ทำให้รวมราคากลุ่มเบนซินตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.61 -19 พ.ค. 61 ขยับขึ้นรวม
2.10 บาท/ลิตร ส่งผลราคาไม่รวมภาษีท้องถิ่นที่เขต กทม.และปริมณฑล ในส่วนอี20 ขยับเป็น
27.74 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 ราคา 30.25 บาท ส่วนดีเซล ขยับขึ้น 2.30 บาท มาอยู่
29.79 บาท/ลิตร นับเป็นราคาสูงสุดในรอบ 3 ปี 3 เดือน หรือตั้งแต่ 18 ก.พ.2558 และเป็นราคาสำคัญในการคำนวณการปรับขึ้นค่าโดยสาร และสินค้าต่างๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การงดแจ้งราคาน้ำมันล่วงหน้า
มีผู้ใช้น้ำมันแสดงความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ โดยเห็นว่าการแจ้งล่วงหน้าได้ประโยนชน์ แม้จะประหยัด10-20 บาท ต่อการเติม 1 ครั้ง แต่ก็ทำให้รู้สึกดี เป็นต้น
นายมนูญ ศิริวรรณ
ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมัน มองว่าคงต้องให้เวลา2-3 เดือน จึงจะเห็นว่าการงดแจ้งราคาล่วงหน้า
จะมีผู้ค้ารายใดขายในราคาที่แตกต่างกันหรือไม่ ในขณะนี้ทุกรายคงไม่กล้าสร้างความแตกต่าง
ไม่เช่นนั้นจะเป็นสงครามราคา การแจ้งราคาล่วงหน้านั้นเป็นผลประโยชน์ผู้บริโภคระยะสั้น
ทำให้ไม่ต้องติดตามสถานการณ์ราคามากนัก รู้ล่วงหน้าก็เตรียมรับมือทันที แต่ผลเสียระยะยาวคือทำให้ตลาดไม่แข่งขันด้านราคา
อย่างไรก็ตาม เมื่อทดสอบงดแจ้งราคาล่วงหน้าไประยะหนึ่งแล้ว เห็นว่าไม่ได้ผล
ภาครัฐก็ควรจะทบทวนว่ามีวิธีการอื่นส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันมากกว่านี้หรือไม่
ส่วนราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นเป็นไปตามทิศทางตลาดโลก ขณะนี้นักวิเคราะห์ประเมินกันหลากหลายแนวคิด บางรายระบุว่าราคาอาจจะถึง 90
ดอลลาร์/บาร์เรล หากเป็นเช่นนั้นจริง ราคาขายปลีกในเมืองไทยอาจจะขึ้นอีก 3
บาท/ลิตร แต่อีกด้านหนึ่งก็มีผู้ให้ความเห็นว่า หากราคาแตะ 80 ดอลลาร์ หรือมากกว่าเล็กน้อย กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจะเริ่มผลิตทำกำไรกันมากขึ้นก็อาจจะทำให้ราคาไม่สูงเพิ่มขึ้นมากนัก
ทั้งนี้ ราคาดีเซลในไทยที่จะขึ้นถึง 30 บาท/ลิตร
คงต้องรอดูว่ารัฐบาลว่าจะตัดสินใจเข้ามาอุดหนุนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไบโอดีเซลจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันเพียง
0.01 บาท/ลิตรเท่านั้น หากอุดหนุนราคาก็จะกลายเป็นการอุดหนุนข้ามกลุ่มที่ต้องนำเงินจากผู้ใช้กลุ่มเบนซินมาอุดหนุน ต้องคิดให้รอบคอบว่าเป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่
“ ราคาน้ำมันที่ขึ้นกว่า 2 บาทต่อลิตร กับนโยบายงดแจ้งราคาล่วงหน้า
ไม่มีอะไรสอดคล้องกัน เพราะเป็นการขึ้นตามตลาดโลก ภาวการณ์เช่นนี้ เติมเต็มถังได้ตลอดเวลา
มันขึ้นแน่นอน ขับผ่านปั๊มก็ควรเติมไปเลย โอกาสลงแทบจะไม่มี ทุกสัปดาห์อาจจะขึ้น 1-2
ครั้ง และหากน้ำมันดิบขึ้นถึง 90 ดอลลาร์/บาร์เรล จริง ก็มีโอกาสราคาขายปลีกจะขึ้นถึง
3 บาท/ลิตร” นายมนูญกล่าว
ด้านสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก ปิดวานนี้ลดลงจากแรงขายทำกำไร โดย น้ำมันดิบเวสต์เทกซัส (WTI) ส่งมอบเดือน มิ.ย. ลดลง 21 เซนต์ ปิดที่ 71.28 ดอลลาร์/บาร์เรล สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือน ก.ค. ลดลง 79 เซนต์ ปิดที่ 78.51 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงเป็นผลมาจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าสหรัฐอาจจะคว่ำบาตรอิหร่าน ส่งผลให้อิหร่านส่งออกไม่ได้ 200,000-1,000,000 บาร์เรล/วัน ในขณะที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันทั้งโอเปกและนอกโอเปก รวมตัวตามคำมั่นปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1.8 ล้านบาร์เรล/วัน จนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา. -สำนักข่าวไทย