กรุงเทพฯ 28 ก.ย.-สนพ.ประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบอาจแตะ 40 ดอลลาร์/บาร์เรล หากกลุ่มผู้ผลิต”ฮั้ว”ลดรักษาสเถียรภาพราคาน้ำมันไม่ได้ ด้านการใช้พลังงาน 9 เดือนแรก ของปี 2559 คาดว่าคนไทยใช้พลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 การใช้น้ำมันพุ่งตามทิศทางราคาน้ำมันที่ลดลง ส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติลดลงต่ำกว่าแผน
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันไตรมาส4 ปีนี้ขึ้นอยู่สถานการณ์ตลาดโลกทั้งเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐและเรื่องข้อตกลงระหว่างกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกว่าจะตกลงเรื่องการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันได้หรือไม่ โดยเฉพาะท่าทีของอิหร่าน รัสเซีย หากไม่มีการลดกำลังผลิต ก็คาดว่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบตลาดดิบดูไบ ในช่วงประมาณ 40 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล โดยในส่วน ของสนพ.ยังประเมินว่าราคาน้ำมันดิบในช่วงนับจากนี้จะอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 40-45 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนเรื่องราคาแอลพีจีขายปลีกในประเทศเดือนตุลาคม ขึ้นอยู่กับที่ประชุม คณะกรรมการบริหารนยโยบายพลังงาน (กบง.) จะพิจารณาในช่วงต้นเดือนหน้า ซึ่งแม้ราคาตลาดโลกจะขยับขึ้นเกือบ 40 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน มาอยู่ที่ประมาณ 340 ดอลลาร์/ตัน แต่ราคาก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ลดลง
“หากเลือกตั้งสหรัฐเสร็จสิ้นแล้วมีท่าทีไม่เป็นผลบวกต่อนโยบายต่างประเทศ ก็อาจมีผลทางด้านจิตวิทยาให้ราคาน้ำมันขยับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่หากข้อตกลงกับกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันในคืนนี้ที่อัลจีเรีย ฮั้วกันไม่ได้ ไม่มีข้อตกลงกันได้ ก็จะมีผลทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงและส่งผลราคาในไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำต่อไป”นายทวารัฐ กล่าว
สำหรับสถานการณ์การใช้พลังงานรอบ 9 เดือนแรก (มกราคม – กันยายน) ของปี 2559 ในภาพรวมคาดว่ามีการใช้พลังงานขั้นต้นของประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน สอดคล้องกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) โดยมีความต้องการใช้พลังงานอยู่ที่ 2.105 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน แบ่งเป็นการใช้น้ำมัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 อยู่ที่ระดับ 137 ล้านลิตรต่อวันและการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 โดยมียอดใช้ประมาณ 137,424 ล้านหน่วย
สำหรับปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าอยู่ที่ระดับ 4,726 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลดลงร้อยละ 1.0 โดยเป็นการลดลงเกือบทุกภาคเศรษฐกิจ ทั้งการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 1.3 เนื่องจากในช่วงที่เมียนมาร์หยุดจ่ายก๊าซ โรงไฟฟ้าฝั่งตะวันตกเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงอื่นในการผลิตไฟฟ้าแทน การใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงแยกก๊าซ ลดลงร้อยละ 1.4 และการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) ลดลงร้อยละ 8.6 อยู่ที่ประมาณ 7,511 ตัน/วัน และแอลพีจี ลดลงร้อยละ 10.8 หรือประมาณ 503,000 ตัน/เดือน
“การใช้ก๊าซธรรมชาติลดลงร้อยละ 1ยังต่ำกว่าแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว 2015 ที่ต้องการให้ลดลงร้อยละ 5 ต่อปี เพื่อให้ปลายแผนในปี 2579เหลือร้อยละ 36 จากปัจจุบันใช้ผลิตไฟฟ้าเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 โดยการใช้ก๊าซฯลดลงแต่การใช้ไฟฟ้ายังเพิ่มขึ้นเป็นเพราะเราใช้ไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านและพลังงานทดแทนสูงขึ้น”นายทวารัฐกล่าว
ในส่วนของพลังงานทดแทนในปี 2559 ในแง่ของกำลังผลิตเข้าระบบสูงถึง 6,371 เมกะวัตต์ เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 5,637 เมกะวัตต์ แต่ในแง่ประสิทธิภาพยังต่ำกว่าเป้าหมาย 1,000 Ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมัน) เนื่องจากโรงไฟฟ้าที่เข้าระบบส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มี PLANT FACTOR มีราคาต่ำ
ทั้งนี้ จากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำทำให้การใช้น้ำมัน 9 เดือนแรกปีนี้ การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1อยู่ที่ประมาณ 29 ล้านลิตร/วันและการใช้ดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1มาอยู่ที่ 62.1ล้านลิตร ขณะที่การใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) อยู่ที่ระดับ 503 พันตันต่อเดือน ลดลงร้อยละ 10.8 โดยลดลงในเกือบทุกภาคเศรษฐกิจ ทั้งการใช้ในภาคปิโตรเคมี ลดลงร้อยละ 20.6 เนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเปลี่ยนไปใช้แนฟทาในการผลิตปิโตรเคมีแทน LPG ส่วนภาคขนส่ง ลดลงร้อยละ 15.6 เนื่องจากผู้ใช้รถยนต์บางส่วนหันไปใช้น้ำมันที่มีราคาถูกลง ด้านการใช้ในภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนการใช้สูงสุด มีการใช้ค่อนข้างคงที่หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.4 ทั้งนี้ความต้องการใช้ LPG ที่ลดลงอย่างมากส่งผลให้การนำเข้า LPG ลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 /สำนักข่าวไทย