กรุงเทพฯ 4 พ.ค.-หลังเกิดคดีล่าเสือดำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทำให้มีความเห็นหลากหลายด้านในการคุ้มครองสัตว์ป่าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยนักวิชาการได้ให้ความเห็นถึงความสำคัญของกฎหมาย และความมีส่วนร่วมดูแลของทุกฝ่าย ติดตามจากรายงาน
กว่า 3 เดือน นับจากเกิดคดีล่าเสือดำ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก กระแสจากหลายฝ่าย หลากบุคคล บางให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา แต่ก็มีหลายความเห็น เห็นว่าอิทธิพลของบางบุคคลของทำให้กฎหมายไม่สามารถเอาผิดได้เต็มที่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนา “จะเดินต่อไปอย่างไร เสือดำ” มีนักวิชาการร่วมให้ความเห็น แลกเปลี่ยนมุมมอง โดยศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว
รอง ปธ.คมธ.ทรัพยากรฯและสิ่งแวดล้อม บอกว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะบางคนไม่ยึดกติกาของบ้านเมือง รวมถึงไม่มีความเกรงกลัวกฎหมาย โดยต้องยอมรับว่า พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 อาจจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไข เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ซึ่งนั้นจะช่วยให้เกิดการเคร่งครัด รัดกุม และลดการกระทำผิดได้มากยิ่งขึ้น
ด้านโฆษกประจำกรมอุทยานแห่งชาติฯ บอกว่า การสร้างความมีส่วนร่วม ก็สำคัญไม่แพ้การใช้กฎหมาย เพราะเพียงเจ้าหน้าที่เอง หรือเทคโนโลยีเองไม่สามารถปิดล้อมป่าไม่ให้เกิดการทำผิดได้ คน ชุมชน เครือข่ายอนุรักษ์จึงเป็นกำลังสำคัญในการปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้การสร้างมาตรฐานการประเมินคุณค่าและมูลค่าของสัตว์ป่าแต่ละชนิด อาจมีส่วนให้ใช้เพิ่มโทษผู้กระทำผิด หรือเรียกค่าชดใช้ความเสียหายได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย การมีส่วนร่วม หรือปัจจัยเพิ่มโทษอื่นๆ ล้วนมีสำคัญ ให้เกิดความเป็นธรรมต่อสัตว์ป่า ทรัพยากรธรรมชาติของคนไทย ที่ถูกทำลายไปด้วยความต้องการส่วนตัวของคนเพียงไม่กี่คน.-สำนักข่าวไทย