สสส.29 ก.ย.-นักวิชาการด้านประชากรเผยความหลากหลายของเจนเนอเรชั่น มีผลกับพฤติกรรมการบริโภคและการทำงาน ห่วงคนเจน Y วัยแรงงาน ไม่ทนงาน เครียดไม่ปรับตัวทันเทคโนโลยี ตกเทรนด์กระแสโลก ห่วงอนาคตประชากรเกิดใหม่น้อย ด้อยคุณภาพ
ผศ.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยความเข้าใจพฤติกรรมต่างเจน ผ่านตัวชี้วัดสุขภาพคนไทย ว่า จากรายงานสุขภาพคนไทย ในปี 2559 พบว่าประชากรในแต่ละเจนเนอเรชั่นมีพฤติกรรมและค่านิยม การใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน โดยเจนเนอเรชั่นที่อยู่ในสังคมไทยมากที่สุดในขณะนี้ คือเจน X ได้แก่คนที่เกิดในพ.ศ.2504-2524 มี 23 ล้านคน และเจน Y คนที่เกิดพ.ศ.2525 -2548 มี 22 ล้านคน ซึ่งกำลังอยู่ในวัยแรงงานในสังคมมากที่สุด
ผศ.เฉลิมพล กล่าวว่า พฤติกรรมของคนต่างเจนจะพบว่ามีอย่างชัดเจน โดยคนเจน Y มีบทบาทในสังคม เนื่องจากเป็นวัยแรงงาน แต่หากสำรวจจะพบว่า เพื่อนร่วมงานต่างเจนจะไม่ค่อยชอบคนเจน Y เนื่องจากไม่มีความอดทน เปลี่ยนงานบ่อย แต่มีข้อดีคือ สามารถทำงานหลากหลายได้พร้อมกัน มีช่องทางในการหารายได้มากกว่า แต่ก็มีพฤติกรรมการใช้จ่ายมากด้านแฟชั่นและการบริโภค มีความคิดทัศนคติ เรื่องการมีบุตรแตกต่างออกไป คิดว่าชอบอิสระ ไม่อย่างมีห่วง ขณะเดียวกันอัตราการมีเพศสัมพันธ์ในคนเจนนี้พบว่ามีเพศสัมพันธ์ในอายุที่น้อยลง 15-19 ปี มีคู่นอนมากถึง 5 คู่ นอกจากนี้ยังพบว่ามีพฤติกรรมการรักสุขภาพขยับร่างกายน้อย ชอบชีวิตสโลว์ไลฟ์ มีอัตราการขยับร่างกายเฉลี่ย 1.1 ชม.ต่อวัน และห่วงในอนาคตสัดส่วนประชากรจะลดลงอย่างแน่นอน
รศ.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา สถาบันวิจัยประชากรสังคมมหาวิทยาลัย มหิดล กล่าวว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าสังคมมีประชากรถึง คนเจน Z มีเกิดมาพร้อมเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์อินเตอร์เน็ต จึงมีความห่วงว่าคนเจน Y ต้องมีการปรับตัวให้ทันเทคโนโลยี เพราะโลกมีความก้าวหน้า หากไม่มีการปรับตัวให้ทำงานหลากหลายมากขึ้น และต้องเน้นทันเทคโนโลยี สำหรับเด็กที่เกิดใหม่ เชื่อว่าในอนาคตมีน้อย แต่จำเป็นต้องเน้นคุณภาพ ระบบการศึกษาต้องมีความหลากหลาย พ่อแม่ยอมรับความแตกต่างในสังคม มีทักษะในการแยกแยะข้อมูลที่คลั่งไหลมาในยุคการสื่อสารที่มากมาย ไม่มีการตรวจสอบ และควรมี Media Literacy ตรวจสอบข้อมูลในโลกของการสื่อสาร .-สำนักข่าวไทย