กรุงเทพฯ
25 เม.ย.-กฟผ.คุยพร้อมลงทุนโซลาร์ลอยน้ำตามเขื่อนต่างๆ
ต้นทุนตามนโยบาย ไม่เกิน 2.40 บาท/หน่วย ด้าน รมว.พลังงาน เผยเอกชนย้ำสามารถผลิตไฟฟ้าราคานี้ได้
เป็นผลดีต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี
รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ.พร้อมสนองนโยบายกระทรวงพลังงานในการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ราคาต่ำกว่า
2.40 บาทต่อหน่วย ด้วยการปรับระบบการดำเนินโครงการ ให้ต้นทุนต่ำที่สุด
แม้ว่าจะต้องรับซื้อจากการประกวดราคาจากผู้ผลิตแผงโซลาร์ในประเทศ
ซึ่งมีราคาสูงกว่าต่างประเทศถึงร้อยละ 40 ก็ตาม
โดย กฟผ.เตรียมแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์แบบทุ่นลอยน้ำตามเขื่อนต่างๆ
เริ่มจาก เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี 30-40 เมกะวัตต์ และเตรียมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU)กับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
หรือ เอสซีจี ในเดือนพ.ค.นี้
เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการวางทุ่นลอยน้ำสำหรับใช้กับแผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งในอ่างเก็บน้ำ
ส่วนโครงการลงทุนติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน
(Energy Storage System) นำร่อง 2 โครงการของ กฟผ. คือ สถานีไฟฟ้าบำเหน็จณรงค์
จ.ชัยภูมิ เพื่อรองรับพลังงานลมในพื้นที่ 16 เมกะวัตต์ และสถานีไฟฟ้าชัยบาดาล จ.ลพบุรี เพื่อรองรับโซลาร์ฟาร์มในพื้นที่
21 เมกะวัตต์ คาดว่า จะสามารถออกเอกสารเชิญชวนประกวดราคา(TOR)ได้ในช่วงกลางปีนี้
หลังจากที่โครงการล่าช้าตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
ซึ่งจะทำให้เปิดเครื่องเชิงผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์(COD)ได้ในช่วงเดือนธ.ค.ปี2562 จากเดิมคาดว่าจะCODได้ในช่วงกลางปี2562
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้สนับสนุนให้ กฟผ.ลงทุนพลังงานทดแทนในรูปแบบที่แตกต่างจากเอกชน
โดยเฉพาะโซลาร์ลอยน้ำตามเขื่อนต่างๆ ซึ่งหากดำเนินการได้ในช่วงกลางวันจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และกลางคืนผลิตไฟฟ้าจากน้ำ
ทำให้ระบบการผลิตไฟฟ้าพลังงานมีความเสถียรมากขึ้น และเป็นที่น่าดีใจ หลังจากที่ กระทรวงพลังงาน
ประกาศนโยบายว่า หากเอกชนรายใดสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในต้นทุนต่ำกว่าราคาขายส่ง2.40บาทต่อหน่วย ก็พร้อมพิจารณารับซื้อ
พบว่ามีเอกชนรายหลายได้เข้ามาพูดคุย เพื่อสอบถามความชัดเจนและแสดงเจตจำนงว่าสามารถดำเนินการได้ทั้งในส่วนของพลังงานหมุนเวียนแบบเสถียร
หรือ FIRM หลายร้อยเมกะวัตต์และพลังงานฟอสซิลกว่า1,000เมกะวัตต์
ซึ่งทิศทางก็จะเป็นผลดีต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า -สำนักข่าวไทย