จ.เชียงราย 25 เม.ย.-รมว.ยุติธรรม นำคณะลงพื้นที่เปิดโครงการยุติธรรมสู่หมู่บ้าน พร้อมจัดตรวจดีเอ็นเอ พิสูจน์สัญชาติไทย ที่จ.เชียงราย
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่ จ.เชียงราย เปิดโครงการยุติธรรมสู่หมู่บ้าน นำบริการรัฐสู่ประชาชน ในพื้นที่ อ.เวียงแก่ง พร้อมเยี่ยมชมกิจกรรมการอำนวยความเป็นธรรม คืนสิทธิ สร้างโอกาส หรือการตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์สถานะทางทะเบียนราษฎร์
พล.อ.อ.ประจิน กล่าว่า จังหวัดเชียงราย ถือเป็นจังหวัดที่มีปัญหากลุ่มคนไร้สัญชาติ มีความหลากหลาย กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ติดแนวตะเข็บชายแดน และขาดความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการรับรองสถานะทางทะเบียนราษฎร์เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ส่งผลให้คนกลุ่มนี้ขาดโอกาสเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ เช่น กระบวนการยุติธรรม การศึกษา การรักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย ดังนั้น คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมระดับจังหวัด ได้ร่วมกับสำนักงานยุติธรรมจังหวัดเชียงราย และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ดำเนินการจัดเก็บสารพันธุกรรมในพื้นที่12 อำเภอ ของ จ.เชียงราย โดยได้รับความร่วมมือจากอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในจ.เชียงราย สำรวจและคัดกรองเพื่อให้ได้สัญชาติไทยให้มากที่สุด
ด้าน นพ.ศราวุฒิ สุจริตธรรม นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มนิติเวชคลินิค สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้มีผู้ประสงค์ขอตรวจสารพันธุกรรมทั้งสิ้น 599 คน ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าม้ง(บุคคลตกหล่น 351 คน บุคคลอ้างอิง 248 คน) ใช้ระยะเวลาดำเนินการ ระหว่างวันที่ 25-27 เม.ย.นี้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งผลการตรวจดีเอ็นเอ จะสามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันตัวบุคคลและนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบ การรับรองสถานะทางทะเบียนตามกฎหมายร่วมกับฐานข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รวมถึงรับสิทธิ์ที่พลเมืองไทยพึงได้
ขณะที่ผ่านมาสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เริ่มโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2547 ล่าสุดถึงปี 2560 สามารถให้สัญชาติไทยให้คนทั่วประเทศได้แล้ว 6,913 ราย ส่วนในปี 2561 นี้ นิติวิทยาศาสตร์ ได้ตั้งเป้าหมายการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมแก่ราษฎรไร้สถานะและประสบปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร์ทั่วประเทศ ให้ได้ 1,600 ราย
ทั้งนี้ หากดูจากสถิติที่ทำมาตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้พบคนไม่มีบัตรประชาชนหรือสัญชาติไทยแค่ในพื้นที่ชายขอบ หรือในกลุ่มชาติพันธุ์ ที่น่าสนใจคือในพื้นที่อย่างกรุงเทพมหานครก็พบ ปี 2559 พบ36 ราย ส่วนปี 2560 พบ 26 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มประชาชนที่อยู่ในชุมชนแออัด ที่มองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะไปแจ้งเกิด หรือทำบัตรประชาชน จนกระทั่งมีความจำเป็นทั้งการศึกษา การรักษาพยาบาล หรือใช้สิทธิต่างๆที่ภาครัฐมีให้ ซึ่งกว่าจะผ่านขั้นตอนตรวจต้องใช้เวลา 2-3 เดือนกว่าจะทราบผล จึงอยากขอให้ผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะจะทำให้เสียสิทธิ์ และเสียโอกาสต่างๆที่ควรจะได้.-สำนักข่าวไทย