อย.22เม.ย.-อย.แจงร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ.ดำเนินการตาม กฏหมายกับบริษัท เมจิก สกิน มาตั้งแต่ ก.พ.2561หลังมีผู้บริโภคร้องเรียนผลข้างเคียง-โฆษณาเกินจริง ตลอดจนบุกจับโรงงานผลิต-ระงับโฆษณา ย้ำ อย.ยึดมั่นทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค พบผลิตภัณฑ์ใดปฏิบัติไม่ถูกต้อง ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทุกราย
นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยถึงการดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัท เมจิก สกิน จำกัด ว่า จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่ผลิตโดยบริษัทดังกล่าว พบว่าทั้งหมดผลิตที่บ้านเลขที่ 540/1 ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา โดยได้ยึดอายัดผลิตภัณฑ์บางส่วน เช่น Linda Drink , Chlorophyll Detox Fiber , Apple Slim , Shi-No-Bi- และ Treechada (Underarm Serum)
สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารนั้น จากการตรวจสอบฐานข้อมูลของ อย.และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ไม่พบข้อมูลของบริษัท เมจิก สกิน จำกัด และนางวรรณภา พวงสน เกี่ยวกับการขออนุญาตผลิตอาหาร
นอกจากนี้ยังพบผลิตภัณฑ์อาหารอีก 3 รายการ ได้แก่ 1. SNOW Milk , 2. Fit Yoksod และ 3.Slim milk ผลิตโดยบริษัท เมจิก สกิน จำกัด หลังมีผู้ร้องเรียนไปสถานีโทรทัศน์ ตรวจพบการกระทำที่ผิดกฎหมายคือผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับ ไม่เกิน 30,000 บาท ,ผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอม กรณีแสดงฉลากเพื่อลวง หรือพยายามลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในลักษณะพิเศษว่า ได้รับเลขสารบบอาหาร ณ สถานที่ผลิตแห่งนี้แล้ว มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 100,000 บาท ทั้งนี้ อย. ได้ดำเนินการออกคำสั่งระงับการผลิต ณ บ้านเลขที่ดังกล่าว เพื่อมิให้มีการผลิตสินค้าที่หลอกลวงผู้บริโภคอีกต่อไป
ส่วนของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางภายใต้ผู้จดแจ้ง ชื่อ นางวรรณภา พวงสน ที่อยู่ 588/81 ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา จำนวน 227 รายการ ซึ่งจากการตรวจสอบสถานที่ผลิตตามที่ได้จดแจ้งไว้ พบว่าไม่มีสภาพการผลิตและไม่พบเครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมทั้งสารเคมีและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตเครื่องสำอางแต่อย่างใด ดังนั้น เครื่องสำอาง 227 รายการจึงเป็นเครื่องสำอางที่ผลิตไม่ตรงตามที่ได้จดแจ้งไว้
นอกจากนี้ยังได้ตรวจพบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางภายใต้ผู้จดแจ้งชื่อ บริษัท เมจิก สกิน จำกัด จำนวน 41 ราย ซึ่งจากคำให้การของกรรมการบริษัท เมจิก สกิน จำกัด ให้การรับสารภาพว่าไม่ได้ทำการผลิตเครื่องสำอาง ดังนั้น จึงถือได้ว่าเครื่องสำอางที่ตรวจพบผลิตจากสถานที่ที่ไม่ตรงตามที่ได้จดแจ้งไว้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้จดแจ้งทั้ง 2 แห่ง ได้กระทำผิดกฎหมาย ฐานผู้จดแจ้งผลิตเครื่องสำอางไม่ตรงตามที่ได้จดแจ้งไว้ มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
นอกจากนี้ อย.ยังได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง สั่งให้ระงับการกระทำฝ่าฝืน หรือแก้ไขปรับปรุงหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยให้ระงับการผลิตและขายเครื่องสำอางทุกรายการที่จดแจ้งในนามของนางวรรณภา พวงสน ได้แก่สถานที่ผลิตเลขที่ 588/81 ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมา จำนวน 227รายการ ซึ่งผลิตจากสถานที่ไม่ตรงตามสถานที่ที่ได้จดแจ้งไว้ และที่จดแจ้งในนามบริษัท เมจิก สกิน จำกัด บ้านเลขที่ 522/46 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา จำนวน 39 รายการ ซึ่งผลิตจากสถานที่ที่ไม่ตรงตามสถานที่ที่ได้จดแจ้งไว้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดผลิตภัณฑ์ที่ถูกระงับได้ที่เว็บไซต์ของ อย. (www.fda.moph.go.th) รวมทั้งมีคำสั่งเพิกถอนใบรับจดแจ้งเครื่องสำอาง และมีคำสั่งเรียกเก็บคืนเครื่องสำอางที่จดแจ้งในนามนางวรรณภา พวงสน และที่จดแจ้งในนามบริษัท เมจิก สกิน จำกัด เพื่อ อย. จะได้นำไปทำลายต่อไปด้วย
นพ.วันชัย กล่าวต่อไปว่า ในการดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัท เมจิก สกิน จำกัด ตามความผิดที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อย.ได้แถลงข่าวให้สาธารณชนทราบเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2561 และได้ออกข่าวแจ้งผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัท เมจิก สกิน จำกัด ถือว่าผิดกฎหมาย โดยขอย้ำว่า หากมีผู้จำหน่ายรายใดที่ขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ฉลากระบุว่าผลิตโดยบริษัท เมจิก สกิน จำกัดและที่ฉลากมีการแสดงเลขสารบบอาหาร ก็ถือว่าเป็นการจำหน่ายอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง10 ปีและปรับ ตั้งแต่ 5,000 –100,000 บาทแต่หากกรณีอาหารนั้นไม่แสดงเลขสารบบอาหารก็ยังคงถือว่าเป็นการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
สำหรับกรณีของบริษัท เมจิก สกิน จำกัด เจ้าหน้าที่ อย.ได้ปฏิบัติงานตรวจสอบดำเนินคดีตามกฎหมาย อย.อย่างเคร่งครัด จนทำให้ตำรวจได้บุกจับเครือข่ายเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของผู้กระทำผิดไปแล้ว เพื่อมิให้ประชาชนได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์และผู้จำหน่ายโดนหลอกลวงอีกต่อไป ดังนั้น ขอย้ำเตือนผู้ประกอบการอย่าได้ลักลอบผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางโดยผิดกฎหมาย พร้อมปรามผู้จัดจำหน่ายทั้งรายใหญ่และรายย่อย รวมถึงพรีเซ็นเตอร์ หากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจำหน่ายหรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเข้มงวด
ส่วนของผู้บริโภคขอให้ระมัดระวังการซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ อย่าได้หลงเชื่อสรรพคุณที่อวดอ้างเกินจริงผ่านทางสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย นอกจากจะเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้วยังอาจได้รับอันตรายโดยคาดไม่ถึง หากผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือมีข้อสงสัยในเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย.1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทั่วประเทศ .-สำนักข่าวไทย