กรุงเทพฯ 13 เม.ย. – ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้สัปดาห์หน้าหุ้น-เงินบาทยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยต่างประเทศ ทั้งสงครามการค้า และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ-รัสเซีย
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา (9-12 เม.ย.) เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในระหว่างสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคและเงินหยวน ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังคงมีประเด็นกดดันต่อเนื่องจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ –จีน อย่างไรก็ตาม เงินบาทต้องลดช่วงบวกลงบางส่วนท่ามกลางกระแสการเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุนหลังสถานการณ์ในซีเรียมีความตึงเครียดมากขึ้น ประกอบกับมีแรงขายเพื่อปรับโพสิชันก่อนเข้าช่วงวันหยุดยาวของตลาดในประเทศ โดยวันที่ 12 เมษายน เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากระดับ 31.26 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันที่ 5 เมษายน
สำหรับสัปดาห์หน้า (16-20 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.05-31.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตาการเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน ความคืบหน้าเกี่ยวกับการเจรจาเพื่อลดข้อพิพาททางการค้าของสหรัฐและจีน ตลอดจนรายงานนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐที่อาจจะมีการเปิดเผยออกมาด้วยเช่นกัน ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐสำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาที่อยู่อาศัย ดัชนีภาวะธุรกิจของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนเมษายน ยอดค้าปลีก ข้อมูลการสร้างบ้าน ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม ข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิสู่ตลาดการเงินสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามข้อมูลจีดีพีไตรมาส 1/61 ของจีน สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและรัสเซีย และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งอาจมีผลต่อเนื่องต่อทิศทางของเงินดอลลาร์ฯ ด้วยเช่นกัน
ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยขยับขึ้นก่อนช่วงวันหยุดยาว โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,767.17 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.57 จากสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ตาม มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน ปรับลดลงร้อยละ 15.52 จากสัปดาห์ก่อนมาที่ 54,246.94 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 485.31 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.05 จากสัปดาห์ก่อน
ส่วนสัปดาห์หน้า (16-20 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,755 และ 1,745 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,785 และ 1,810 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ประเด็นต่อเนื่องของมาตรการทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและรัสเซีย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐอื่น ๆ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ข้อมูลการสร้างบ้าน ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ข้อมูลจีดีพีไตรมาส 1/61 ของจีน.-สำนักข่าวไทย