กรุงเทพฯ 10 เม.ย. – โรงไฟฟ้าขยะร้องภาครัฐทบทวนนโยบายใหม่กำหนดค่ารับซื้อ 2.40 บาท/หน่วย ระบุขาดทุน ไม่เอื้อต่อวาระแห่งชาติแผนจัดการขยะ รวมทั้งขอให้ลดทุกขั้นตอนเพื่อให้โครงการเดินหน้าได้ ด้านซีแอนด์จีฯ กลุ่มทุนจีนฟันธงขยะ กทม.เพิ่มหลายเท่าตัว ชี้โรงไฟฟ้าจะช่วยแก้ปัญหา
นายมนตรี วิบูลยรัตน์ นายสมาคมการค้าพลังงานขยะ เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขยะได้หารือกันในวันนี้และจะร่วมทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อให้พิจารณาสนับสนุนการจัดการขยะให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนให้นำขยะมาผลิตไฟฟ้า เป้าหมาย คือ การกำจัดขยะ ไม่ใช่มองว่าเป็นการสร้างโรงไฟฟ้า โดยการทำโครงการขยะมีต้นทุนสูงมากประมาณ 200 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ไม่เหมือนกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ลดต่ำลงมาอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ เนื่องจากกระบวนการดำเนินการต้องผ่านหลายขั้นตอน ผ่านความเห็นชอบจากทั้งประชาชน การเมืองหลายระดับ ใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่ต่ำกว่า 4 ปี
ดังนั้น อยากให้มองว่าโรงไฟฟ้าขยะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงไม่ควรจะมองเรื่องการเงินค่าไฟฟ้าเป็นตัวตั้งเท่านั้น จึงขอเสนอให้ รมว.พลังงาน ทบทวนแนวคิดที่จะกำหนดค่าไฟฟ้าจากขยะไม่เกินอัตราขายส่งที่ 2.40 บาทต่อหน่วย เพราะอัตรานี้ โรงไฟฟ้าขยะขาดทุนไม่สามารถเกิดได้ โดยขอให้ กระทรวงพลังงานคงอัตราสนับสนุนโรงไฟฟ้าขยะตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ปี 2558 ที่กำหนดอัตราอุดหนุน FIT ที่ 5.08-6.34 บาทต่อหน่วยตาม ขนาดกำลังการผลิต ซึ่งหากรัฐบาลไม่อุดหนุนต่อ ปัญหาขยะล้นเมืองก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นแก้ไขไม่ได้ และขอให้เพิ่มปริมาณรับซื้อตามแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) จาก 500 เมกะวัตต์ เป็น 1,000 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ยังได้เสนอว่าควรจะลดขึ้นและหน่วยงานกำกับดูแลขขยะและโรงไฟฟ้าขยะให้มีเท่าที่จำเป็น ,ให้กระทรวงมหาดไทยมอบอำนวจผู้ว่าราชการจังหวัด ดำเนินการเพื่อความคล่องตัว, ส่วนการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนรอบโรงไฟฟ้าหรือรอบโรงงานคัดแยกขยะให้เป็นภารกิจของคณะกรรมการจังหวัด, และสนับสนุนการดำเนินการโครงการขยะในรูปแบบการเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน หรือพีพีพี
นางรมย์ชลี จันทร์ประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดับเบิลยูพีจีอี โรงไฟฟ้าขยะในจังหวัดเพชรบุรี ในเครือ ชิโน-ไทย กล่าวว่า โรงไฟฟ้าขยะของบริษัทกว่าจะเดินหน้าโครงการได้ต้องผ่านประชาคมหลายรอบ และผ่านใบอนุญาตเกือบ 20 ใบหลายหน่วยงาน ต้องเปลี่ยนเทคโนโลยี 3 รอบ จนเป็นที่ยอมรับของชุมชน และการปล่อยกู้ของธนาคาร โดยมีกำลังผลิต 7.9 เมกะวัตต์ ขายเข้าระบบประมาณ 5.9 เมกะวัตต์ ปลายปีนี้ ใช้เวลาดำเนินการกว่า 4 ปี ซึ่งค่าไฟฟ้าหากได้ 2.40 บาทไม่มีโรงไฟฟ้าขยะใดดำเนินการได้ และที่ระบุว่า ให้ไปคำนวณจากค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะจากประชาชนย่อมเป็นไปไม่ได้แน่นอน ยิ่งภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้
นายปยุต ปดิฐพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.พีทีจีเอ็นเนอร์ยี กล่าวว่า บริษัทได้ร่วมทุนโครงการกำจัดขยะ เทศบาลบ้านพลุ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งมีศักยภาพผลิตไฟฟ้าได้ 6 เมกะวัตต์ แต่เนื่องจากไม่ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงมหาดไทยให้ดำเนินโครงการนำร่องหรือควิกวิน ดังนั้น บริษัทจึงร่วมทุนโครงการเฟสแรก 150 ล้านบาท กำจัดขยะใหม่ 200 ตัน/วันผลิตเม็ดพลาสติกจากขยะ หรือรีไซเคิล มีตลาดส่งออก และผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง หรือ RDF ส่งไปยังโรงปูนซีเมนต์ทุ่งสง โดยคาดหวังว่าอนาคตจะได้อนุมัติก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะประมาณ 6 เมกะวัตต์ ซึ่งหากดำเนินการได้จะสามารถกำจัดทั้งขยะเก่าที่ฝังกลบ 400,000 ตัน และกำจัดขยะใหม่ได้อีกไม่ต่ำกว่า 400 ตันต่อวัน แต่ทั้งนี้ เงินค่าไฟฟ้าก็ต้องเหมาะสมด้วย
นายเหอ หนิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินโครงการโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้า หนองแขม กทม. เปิดเผยว่า แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะใน กทม.มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นคาดในอนาคต 20 ปีข้างหน้ามีโอกาสเพิ่มมากกว่าร้อยละ 20 จากปัจจุบัน 10,700 ตันต่อวัน โดยบริษัทรับขยะจาก กทม. 500 ตันต่อวัน มากำจัดด้วยการเผาโดยใช้เทคโนโลยีเตาเผาขยะของ Von Roll Stoker ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเภทเตาเผาแบบตะกรับ (Stoker Type) ใช้อุณหภูมิในการเผาไหม้ 1,000 + 50 องศาเซลเซียส โดยปี 2560 บริษัทสามารถกำจัดขยะที่เกิดขึ้นในกทม.ได้ถึง 170,000 ตัน และผลิตกระแสไฟฟ้าได้กว่า 50 ล้านหน่วย
“จากที่บริษัทกำจัดขยะด้วยการนำมาผลิตไฟฟ้าและดำเนินงานเตาเผาขยะมามากถึง 12 แห่งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้บริษัทได้รับการรับรองระบบมาตรฐานในระยะเวลาเพียง 1 ปีประกอบด้วย มาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 และระบบการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัย OHSAS 18001 บริษัทจึงมีความในการเข้าประมูลงานโรงกำจัดขยะเตาเผาผลิตกระแสไฟฟ้าของ กทม.ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา กทม.ที่จะเพิ่มเตาเผาขยะอีก 2 แห่ง บริเวณอ่อนนุชและหนองแขม ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน และยังมีความพร้อมที่จะขยายการลงทุนไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด” นายเหอ หนิง กล่าว.-สำนักข่าวไทย