กรุงเทพฯ 9 เม.ย.- ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) มีมติไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้คัดค้านก่อสร้างอาคารที่ทำการและที่พักศาลอุทธรณ์ภาค5ได้ชี้ผิดสัญญาอาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย เตรียมทำหนังสือถึงนายกฯชี้ขาดจะชะลอโครงการหรือประการอื่นใด
นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ได้พิจารณาวาระพิเศษเพิ่มเติมกรณีที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมบ้านพักข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งโครงการดังกล่าวปัจจุบันใกล้เสร็จสมบูรณ์ตามสัญญาแล้ว แต่ปรากฏว่ามีบุคคลกลุ่มหนึ่งคัดค้านและเรียกร้องให้ยุติการก่อสร้างพร้อมให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในโครงการก่อสร้างดังกล่าวออก สำนักงานศาลยุติธรรมขอชี้แจงถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขอใช้พื้นที่และการดำเนินโครงการดังกล่าวเรียงลำดับดังนี้
1 วันที่ 25 กรกฎาคม 2540 กระทรวงยุติธรรมได้มอบหมายให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ขอใช้พื้นที่ในราชการทหารบริเวณด้านหลังของหน่วยกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 7 เนื้อที่ประมาณ 106 ไร่ เพื่อก่อสร้างบ้านพักและอาคารที่ทำการของกระทรวงยุติธรรม ต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2542 ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ได้มีหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ให้ยืนยันการขอใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้างบ้านพักและอาคารที่ทำการของกระทรวงยุติธรรม
2 วันที่ 21 เมษายน 2542 สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ได้มีหนังสือยืนยันใช้ที่ดินบริเวณดังกล่าวเพื่อก่อสร้างบ้านพักและอาคารที่ทำการของกระทรวงยุติธรรม ต่อมาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2543 ศาลยุติธรรมได้แยกจากกระทรวงยุติธรรมตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 และให้มีสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระ มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับงานธุรการของศาลยุติธรรม เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่ศาลยุติธรรม
3 วันที่ 31 มกราคม 2546 สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 มีหนังสือถึง
ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ขอใช้ที่ดินบริเวณด้านหลังของหน่วยกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 7 เนื้อที่ประมาณ 106 ไร่ เพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการของศาลยุติธรรมและบ้านพัก
4. ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีหนังสือลงวันที่ 13 มีนาคม 2546 รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการขอใช้ที่ดินมายังสำนักงานศาลยุติธรรมว่า มณฑลทหารบกที่ 33 ขอให้จัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงที่ขอใช้ เพื่อเสนอกองทัพบกพิจารณา
5. มณฑลทหารบกที่ 33 ได้มีหนังสือลงวันที่ 4 มีนาคม 2547 แจ้งว่าไม่ขัดข้องที่จะให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้ที่ดินเนื้อที่รวม 147 – 3 – 41 ไร่ เพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพักข้าราชการฝ่ายตุลาการและขอให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การดูแล บำรุงรักษาที่ราชพัสดุ ประกอบกับก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546 มณฑลทหารบกที่ 33 มีหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 แจ้งว่า ในการขอใช้ที่ดินของสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 มณฑลทหารบกที่ 33 ได้ตรวจสอบแล้ว บริเวณพื้นที่ที่ขอใช้ไม่คาบเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ สุเทพ – ปุย ป.พัน.7 และหน่วยในพื้นที่แต่อย่างใด ประกอบกับสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 มีความจำเป็นเร่งด่วนในการขอใช้ที่ดิน จึงเห็นควรสนับสนุน
6. สำนักงานศาลยุติธรรมได้มีหนังสือ ลงวันที่ 19 กันยายน 2548 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ขอใช้ที่ดินเนื้อที่ประมาณ 147 – 3 – 41 ไร่
7.กรมธนารักษ์มีหนังสือ ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2549 แจ้งอนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้ที่ดินราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม. 1723 (บางส่วน) เนื้อที่ 147 – 3 – 30 ไร่ ตามวัตถุประสงค์ที่ขอใช้
8.จังหวัดเชียงใหม่มีหนังสือลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2549 จัดส่งหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ราชพัสดุให้สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเมื่อได้รับการอนุญาตให้เข้าใช้พื้นที่โดยถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้ดำเนินการด้านงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง จนได้ผู้รับจ้างและได้ลงนามในสัญญาโครงการก่อสร้างดังกล่าวในที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม. 1723 (บางส่วน) กับบริษัท พี.เอ็น.เอส.ไซน์ จำกัด ผู้รับจ้าง โดยมีบริษัท เอ็นจิเนียริ่งดีไซน์ คอนซัลแตนส์ จำกัด เป็นผู้คุมงาน วงเงินรวม 3 โครงการ จำนวน 955,064,056.28 บาม
โดย โครงการที่ 1 ก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ตามสัญญาเลขที่ 87/2557 ลงวันที่ 8 กันยายน 2557 และบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจ้าง (ครั้งที่ 1 – 14) เป็นเงิน 290,495,056.28 บาท (สองร้อยเก้าสิบล้านสี่แสนเก้าหมื่นห้าพันห้าสิบหกบาทยี่สิบแปดสตางค์) กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 28 สิงหาคม 2559 ได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาก่อสร้างออกไปอีก 242 วัน สัญญาสิ้นสุดวันที่ 27 เมษายน 2560 ผู้รับจ้างได้มีหนังสือส่งมอบงานเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2560 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงรับหนังสือเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 คณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจรับงานงวดสุดท้าย เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 บัดนี้โครงการแล้วเสร็จโดยสมบูรณ์และได้เข้าใช้งานแล้ว
โครงการที่ 2 ก่อสร้างบ้านพักผู้พิพากษา จำนวน 38 หน่วย อาคารชุดพักอาศัยข้าราชการตุลาการ จำนวน 16 หน่วย บ้านพักผู้อำนวยการ จำนวน 1 หน่วย และอาคารชุดพักอาศัยข้าราชการศาลยุติธรรม จำนวน 36 หน่วย พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ตามสัญญาเลขที่ 31/2557 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 และบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจ้าง (ครั้งที่ 1 – 12) เป็นเงิน 321,670,000 บาท (สามร้อยยี่สิบเอ็ดล้านหกแสนเจ็ดหมื่นบาทถ้วน) กำหนดแล้วเสร็จวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาก่อสร้างออกไปอีก จำนวน 1,048 วัน สัญญาสิ้นสุดวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างตามสัญญา ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 โครงการที่ 2 นี้ มีการส่งมอบพื้นที่ให้แก่ผู้รับจ้างเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2557 แบ่งงวดงานออกเป็น 98 งวดงาน ส่งมอบงาน ตรวจรับและเบิกจ่ายเงินแล้ว 82 งวดงาน เป็นเงิน 244,962,886 บาท ยังไม่ได้ส่งมอบจำนวน 16 งวดงาน เป็นเงิน 76,707,114 บาท โดยมีผลงานการก่อสร้างสะสมตามแผนถึงเดือนเมษายน 2561 คิดเป็นร้อยละ 94.62 โดยมีผลงานก่อสร้างจริงร้อยละ 86.08
และโครงการที่ 3 ก่อสร้างบ้านพัก รวมจำนวน 9 หน่วย และอาคารชุดพักอาศัยข้าราชการตุลาการ จำนวน 64 หน่วย พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ศาลยุติธรรมในจังหวัดเชียงใหม่ตามสัญญาเลขที่ 55/2556 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 และบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจ้าง (ครั้งที่ 1 – 16) เป็นเงิน 342,900,000 บาท (สามร้อยสี่สิบสองล้านเก้าแสนบาทถ้วน) กำหนดแล้วเสร็จวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 ได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาทำการก่อสร้างออกไปอีก 1,066 วัน สัญญาสิ้นสุดวันที่ 9 มิถุนายน 2561 ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 ปรากฏว่าจากงวดงานทั้งหมด 60 งวดงาน มีการส่งมอบงาน ตรวจรับงานและเบิกจ่ายแล้ว 53 งวดงาน คิดเป็นเงิน 270,574,750 บาท ยังไม่ได้ส่งมอบอีก 7 งวดงาน เป็นเงิน 72,325,250 บาท มีผลงานสะสมตามแผนนับถึงเดือนเมษายน 2561 คิดเป็นร้อยละ 89.28 มีผลงานก่อสร้างจริง คิดเป็นร้อยละ 84.52
นายสราวุธ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวหากมองภาพในมุมสูง จะเห็นได้ว่า โครงการก่อสร้างดังกล่าวจะอยู่แนวระดับเดียวกับ สวนสัตว์ไนท์ ซาฟารี อ่างเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชุมชนช่างเคียน ชุมชนช้างเผือกเเละในการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวสำนักงานศาลยุติธรรมได้ตระหนักถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเสมอมา บริเวณก่อสร้างที่มีต้นไม้มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 30 เซนติเมตรขึ้นไป ได้ขุดล้อมแล้วนำไปปลูกบริเวณใกล้เคียง โดยมีรายละเอียดของต้นไม้ที่ขุดล้อมไปคือ ต้นประดู่ จำนวน 29 ต้น ต้นพลวง จำนวน 86 ต้น สัก จำนวน 4 ต้น ต้นกระบากจำนวน 77 ต้น และไม้เนื้ออ่อนอื่นอีก 44 ต้น รวมจำนวน 240 ต้น ทั้งนี้ เป็นไปตามมติคณะกรรมการตรวจการจ้าง นอกจากนี้ภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ สำนักงานศาลยุติธรรมมีโครงการปลูกต้นไม้อย่างต่อเนื่องโดยเบื้องต้นมีแผนจะปลูกต้นพยุงจำนวน 60 ต้น ต้นแคนาและแคนาป่า จำนวน 94 ต้น ต้นลีลาวดี จำนวน 299 ต้น และไม้พุ่มต่างๆ รวมจำนวน 6,400 ต้น แต่เนื่องจากสำนักงานศาลยุติธรรมมีข้อจำกัดในเรื่องกำลังคนและงบประมาณ จึงขอรับการสนับสนุนด้านกำลังคนและงบประมาณ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ และต้นไม้ จากรัฐบาลเพื่อดำเนินการตามโครงการปลูกต้นไม้ดังกล่าวต่อไป
นายสราวุธยังกล่าวอีกว่า จากกรณีมีที่บุคคลกลุ่มหนึ่งพยายามให้ยุติและรื้อถอนโครงการดังกล่าวนั้น สำนักงานศาลยุติธรรมซึ่งเป็นคู่สัญญาไม่อาจดำเนินการตามข้อเรียกร้องที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ได้ เนื่องจากหากสำนักงานศาลยุติธรรมยุติโครงการย่อมจะตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องถูกคู่สัญญาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ซึ่งจะทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณในการชดใช้ค่าเสียหาย
อีกทั้ง หากสำนักงานศาลยุติธรรมจะดำเนินการรื้อถอนก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้และยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย รวมถึงอาจจะต้องถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการหาผู้รับผิดชอบตามกฎหมายด้วย
จากข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ในวันนี้ และมีมติว่า ให้สำนักงานศาลยุติธรรมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ชอบธรรมและด้วยสันติวิธี โดยตระหนักถึง การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม และให้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีถึงข้อเท็จจริงทั้งหมด โดยหากรัฐบาลเห็นสมควรประการใด เช่น ให้ชะลอการใช้บ้านพักเฉพาะส่วนที่มีการคัดค้านไว้ชั่วคราวหรือดำเนินการอื่นในระหว่างฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สำนักงานศาลยุติธรรมก็ไม่ขัดข้อง.-สำนักข่าวไทย