กทม. 4 เม.ย. – หลังมีการเปิดโปงการทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งที่จังหวัดขอนแก่นเป็นที่แรก และขยายผลพบทุจริตอีกกว่า 30 จังหวัด วันนี้นักวิชาการด้านสังคมสงเคราะห์ตั้งคำถามถึงโครงสร้างการบริหารที่มีช่องโหว่ และมองว่าภาครัฐต้องปฏิรูประบบ เพื่อกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
ข้อสังเกตการใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาทต่อปี ช่วยเหลือคนจนโดยปราศจากระบบตรวจสอบ การบริหารจัดการที่ดี ถูกตั้งประเด็นถกบนเวทีเสวนา “ตีแผ่เงินสงเคราะห์” ตลอดเกือบ 3 เดือนที่ ป.ป.ท. ตรวจสอบการทุจริตศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ พบทุจริตไปแล้ว 34 จังหวัด นักวิชาการสังคมสงเคราะห์มองว่านี่คือความบกพร่องของระบบการบริหารงานที่เกิดจากการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง แนะรัฐควรปฏิรูปโครงสร้าง กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาคนจนอย่างแท้จริง
นักวิชาการสังคมสงเคราะห์ยังเชื่อว่าหากถ่ายโอนอำนาจสู่ท้องถิ่น จะลดความทับซ้อนเนื้องานบางส่วนที่คาบเกี่ยวกับส่วนกลาง และมีกลไกตรวจสอบทุจริตที่ชัดเจน เช่น สภาท้องถิ่น ภาคประชาชน ช่วยเป็นหูเป็นตา
ขณะที่นักวิชาการนิติศาสตร์มองว่า การที่ประชาชนขาดการรับรู้ถึงสิทธิที่ตนพึงได้รับ กลายเป็นช่องโหว่ให้เกิดการทุจริต ด้วยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นความเมตตาจากรัฐ ดังนั้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องตื่นตัว และตรวจสอบภาครัฐอย่างจริงจัง
ปัจจุบันไทยมีผู้ด้อยโอกาส หรือคนไร้ที่พึ่งมากกว่า 15 ล้านคน แบ่งเป็น 6 กลุ่มหลักๆ คือ เยาวชนและเด็กที่ถูกทอดทิ้ง, คนพิการ, ผู้สูงอายุที่พึ่งตนเองไม่ได้, คนจนที่ขึ้นทะเบียน, คนไร้ที่พึ่ง และคนไร้ที่ดินทำกิน กลุ่มคนเหล่านี้จึงกลายเป็นความเหลื่อมล้ำในสังคมที่รอคอยความหวังจากภาครัฐ ได้ใช้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามสิทธิที่ควรจะได้รับ ภายใต้กฎหมายคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ที่มุ่งหวังให้คนจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น. – สำนักข่าวไทย