กรุงเทพฯ 1 เม.ย.- ตรวจการบ้าน 1 ปี ปฏิรูปตำรวจ พบยังไม่ตอบโจทก์ประชาชนอย่างแท้จริงเพราะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ จัดเสวนาหัวข้อ “ตรวจการบ้าน 1 ปี ปฏิรูปตำรวจ แก้ปัญหาประชาชนได้จริงหรือไม่?” โดยมีการประเมินผลสรุปรายงานดำเนินการของคณะกรรมการปฏิรูประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ)ตามรัฐธรรมนูญ ที่มีพลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานฯ โดยมีนักวิชาการเข้าร่วมการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เช่น รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิไตยหรือ ครป. /ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิ ช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดกาญจนบุรี พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรอง ผู้บังคับการจเรตำรวจ นางสมศรี หาญอนันทสุข ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฎิรูปตำรวจ
นางสมศรี ซึ่งเป็นตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจและองค์กรแนวร่วม เห็นว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ยังไม่ได้ตอบโจทย์ประชาชน เพราะเป็นเพียงการเพิ่มอำนาจตำรวจ ลดอำนาจประชาชน ยังขาดการปรับปรุงแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง การรวบอำนาจและทรัพยากรไว้ที่ส่วนกลาง ไม่กระจายอำนาจและบุคลากรไปยังระดับจังหวัด ท้องถิ่น และระดับสถานี ทั้งยัง “รวมศูนย์” ไม่ลดทอนสายการบังคับบัญชา ไม่มีแยกฝ่ายสอบสวนออกจากโครงสร้าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งๆที่เป็นหัวใจสำคัญของการปฎิรูป ฯลฯ และยังยืนยัน ข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ 8 ข้อ ที่ยื่นให้นายกรัฐมนตรี เมื่อ วันที่ 5 ตุลาคม 2560 อาทิ ให้ยุบกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค1-9 เพื่อลดสายการบังคับบัญชาที่ซับซ้อน ,โอนสำนักงานจเรตำรวจไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี, แยกงานนิติวิทยาศาสตร์ งานสอบสวนออกจากองค์กรตำรวจ ,ให้อัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีที่มีโทษจำคุกเกิน5ปี ,ยกเลิกเงินรางวัลนำจับคดีจราจร และการสั่งปรับต้องกระทำโดยศาลฯลฯ
ด้าน ดร.น้ำแท้ เห็นว่า ระบบกระบวนการยุติธรรมของไทยวิกฤตเป็นอย่างมากมีการละเมิดสิทธิประชาชน อาทิ คดียิงกันเสียชีวิตในพื้นที่จังหวัพระนครศรีอยุธยาที่มีการทำสำนวน และส่งอัยการโดยไม่พบผู้กระทำความผิด ไม่มีการสอบพยานแสดงให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรมแบบไทยไทย ที่มีการบิดเบือนสำนวนและการบิดเบือนต้องมีการจ่ายเงิน
ทั้งนี้ระบบสอบสวนที่ดี ต้องมีระบบตรวจสอบควบคู่กันไป แต่ระบบสอบสวนที่เป็นอยู่ พยานหลักฐาน มักมีเพียงพนักงานสอบสวนรู้เห็นเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น ควรมี การถ่วงดุลอำนาจของพนักงานสอบสวน เพื่อไม่ให้บิดเบือนคดี โดยให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หรือ อัยการ เข้าร่วมตรวจจุดเกิดเหตุด้วย หรือ หากมีการจับกุมที่ไม่เป็นธรรม ให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ หน่วยงานอื่นๆได้ทันที
ส่วน พ.ต.อ.วิรุตม์ มองว่า รายงาน คณะกรรมการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้มีการ ปฎิรูป เพราะไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในทางกลับกัน กลับเพิ่มเงิน เพิ่มอำนาจให้ตำรวจ ยืนยันการปฏิรูปตำรวจโดยตำรวจ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นกรณีตำรวจชั้นประทวน สน. พหลโยธิน ออกมาร้องเรียนผู้บังคับบัญชา เชื่อว่าสุดท้ายก็จะอยู่ในองค์กรตำรวจไม่ได้ หรือ แม้แต่ตำรวจ สภ.ทองผาภูมิ ที่ถูกลงโทษ โดยไม่ได้กระทำความผิด รับแจ้งคดีทารุณกรรมสัตว์ แต่ก็ต้องยินยอมเพราะผู้บังคับบัญชาสั่งการ.-สำนักข่าวไทย