กรุงเทพฯ 9 ธ.ค.-มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือนยาฝาแฝดหรือฉลากเหมือน ต้องดูให้ดี หากกินผิดนอกจากไม่ช่วยรักษา อาจถึงเสียชีวิต เรียกร้อง อย.เร่งจัดการแก้ปัญหา
ชมรมเภสัชชนบท ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงข่าว “ยาฝาแฝด” ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการจัดการ ณ ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ฉลากยาเป็นเครื่องมื่อที่กฎหมายกำหนดให้แสดงไว้ข้างภาชนะบรรจุยาเพื่อให้ผู้สั่งใช้ ผู้ใช้ ได้อ่านเพื่อจะได้ใช้ยาอย่างถูกต้อง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ฉลากยาต้องมีรายละเอียดครบถ้วน ทั้งชื่อสามัญ ชื่อทางการค้า เลขทะเบียนยา สรรพคุณ วันผลิตและหมดอายุ แต่บางครั้งกลับพบว่าฉลากยาหลายรายการกลับมีรูปแบบใกล้เคียงกัน ชื่อคล้ายกัน จนแยกไม่ออกหากมองผ่านๆ ซึ่งเราเรียกยากลุ่มนี้ว่า “ยาฝาแฝด” ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน เสี่ยงต่อการใด้รับยาผิด ซ้ำซ้อน เกิดขนาด และไม่ตรงกับโรค
ซึ่งจากการสำรวจพบมียาฉลากคล้ายกัน แต่ขนาดและสรรพคุณต่างกันวางขายตามท้องตลาดจำนวนมาก เช่น ยาทิฟฟี่ ซึ่งเป็นยาแก้ไข้หวัด ที่ไม่อันตราย ขายตามร้านขายยาทั่วไป ขณะที่ยาทิฟฟี่เดย์ ซึ่งฉลากเหมือนกัน ต่างแค่ เดย์ เป็นยาอันตราย ออกฤทธิ์ต่างกัน แต่มีผลต่อหลอดเลือด ต้องได้รับการสั่งจากเภสัชกรเท่านั้น และห้ามโฆษณา จึงทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน หรือยาพาราเซตามอลไซรัปของเด็กเล็กกับเด็กโตที่ทำฉลากคล้ายกัน ต่างกันแค่รูปเด็ก หรือสีกล่องที่แสดงกลิ่นรส หรือต่างกันแค่ของเด็กเล็ก-เปียสั้น เด็กโต-เปียยาว พ่อแม่ไม่ทันสังเกตก็ซื้อไป หากนำยาเด็กโตไปป้อนเด็กเล็ก ก็อาจส่งผลต่อตับ หรืออาจเสียชีวิตได้ อีกกรณี ยาแก้ปวดเมื่อย เป็นยาสามัญประจำบ้าน และยาบำรุงร่างกาย ยาอันตราย ที่มีฉลากเป็นรูปพญานาคเหมือนกันจนแยกไม่ออก แต่ส่วนผสม สรรพคุณไม่เหมือนกัน หากดื่มยาบำรุงร่างกาย ซึ่งมีส่วนผสมเป็นแอลกอฮอล์จำนวนมากกว่า อาจเมาได้ อย่างกรณีข่าวพระเมายาแก้ปวดเมื่อย
นอกจากนี้ที่พบบ่อยมากคือ ยาเพนิซิลลินกับยาซัลฟา ซึ่งยาเพนิซิลลิน คือ ยาต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ส่วนยาซัลฟามีสรรพคุณในการรักษาโรคติดเชื้อ แต่ฉลากและหน้าตาเม็ดยาที่เหมือนกันมาก คนจึงกินผิดบ่อย นอกจากจะไม่ช่วยรักษา ผลข้างเคียงก็แตกต่างกัน เพนิซิลลิน จะแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ส่วนซัลฟาผิวหนังจะลอก บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต เป็นต้น
ภก.ภนุโชติ ทองยัง ประธานชมรมเภสัชชนบท กล่าวว่า ปัญหาจากกลุ่มยาฝาแฝดหรือยารูปพ้อง-มองคล้าย เป็นรูปแบบหนึ่งของยาที่ไม่เหมาะสม ไม่เพียงแต่ผู้บริโภคต้องดูฉลาก อ่านรายละเอียดให้ดีแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมแก้ปัญหา ตั้งแต่การขอขึ้นทะเบียนยา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรกำหนดเกณฑ์การพิจารณาฉลากยาและบรรจุภัณฑ์ของยา ให้รัดกุมไม่ให้เกิดความเสี่ยง เช่นไม่ให้มีฉลากหรือบรรจุภัณฑ์เหมือนหรือคล้ายคลึงกับยาอื่น และไม่ควรอนุญาตให้ใช้ชื่อทางการค้าเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน โดยที่ส่วนประกอบยาเป็นคนละชนิดและไม่ควรอนุญาตให้ยาชนิดเดียวกันที่มีความแรงของยาที่ไม่เท่ากันใช้ชื่อทางการค้าเดียวกัน ทั้งนี้ อ.ย.ต้องแสดงให้เห็นว่าเลือกคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยมากกว่าจะอ้างว่าระเบียบเป็นข้อจำกัดเพราะกฎ ระเบียบแก้ไขได้ หากแก้และผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยต้องเริ่มทำทันทีเพราะรูปธรรมปัญหาที่ปรากฏชัดเจนแล้ว .-สำนักข่าวไทย