สงขลา 2 ต.ค. – ปตท.สผ.ปรับลดต้นทุนรองรับราคาน้ำมันผันผวนต่อเนื่อง แม้กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจะมีมติพร้อมปรับลดกำลังผลิต เผยโครงการโมซัมบิกประกาศแผนชัดปลายปีหน้า ส่วนโครงการน้ำลึกในเมียนมาร์ชวน “โททาล” ร่วมสำรวจ
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.สผ.ลดต้นทุนการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2557 จากที่ราคาน้ำมันดิบลดลงจากประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จนกลับมาเคลื่อนไหวที่ประมาณ 40 ดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน โดยลดต้นทุนไปกว่าร้อยละ 20 แล้ว และแม้ราคาน้ำมันช่วงนี้จะขยับขึ้นหลังกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันหารือกันและโอเปกจะลดกำลังผลิต 750,000 บาร์เรล/วัน หรือลดลงเหลือ 32.5-33 ล้านบาร์เรล/วัน จากปริมาณการผลิตเฉลี่ยประมาณ 33.2 ล้านบาร์เรล/วัน แต่ยังไม่มีความแน่นอนว่าราคาจะขยับขึ้นมากน้อยเพียงใด
สำหรับปี 2559 ปตท.สผ.สามารถลดต้นทุนการพัฒนา (Unit cost) จากปีก่อนลงร้อยละ 10 เหลือ 33-34 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล โดยครึ่งแรกปีนี้ประสบความสำเร็จลดลงเหลือ 29-30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ยังต้องจับตาครึ่งปีจะมีกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้น จึงคาดว่า Unit cost เฉลี่ยปีนี้จะอยู่ที่ 31-32 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
ทั้งนี้ ปตท.สผ.พาสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมแท่นผลิตปิโตรเลียมบงกชใต้ กำลังผลิตก๊าซ 320 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน พร้อมระบุว่าเตรียมพร้อมประมูลแหล่งบงกชตามที่กระทรวงพลังงานจะประกาศเปิดประมูลเดือนมีนาคมปี 2560 และทราบผลการประมูลเดือนกันยายนปี 2560 ซึ่งหากได้รายเก่าจะไม่มีปัญหาสะดุดในการผลิต
“ปตท.สผ.มีประสบการณ์และความชำนาญในการดำเนินการโครงการบงกชมาเป็นเวลานาน ทำให้สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถดำเนินการผลิตก๊าซฯ ด้วยต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ รวมทั้งสร้างผลประโยชน์กับภาครัฐได้อย่างเหมาะสมมาโดยตลอด เชื่อว่าความมุ่งมั่นและเชี่ยวชาญของเราจะทำให้สามารถดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการบงกชได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต” นายสมพร กล่าว
สำหรับโครงการบงกชตั้งอยู่ในอ่าวไทย ห่างจากชายฝั่งจังหวัดสงขลา ประมาณ 203 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3,824 ตารางกิโลเมตร โดยสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุ ประกอบด้วย แปลงสำรวจบี 15 สัมปทานเลขที่ 5/2515/19 ซึ่งจะหมดอายุสัมปทานปี 2565 และแปลงสำรวจบี 16 และบี 17 สัมปทานเลขที่ 3/2515/7 ซึ่งจะหมดอายุสัมปทานปี 2566 โดยผู้ร่วมทุน ประกอบด้วย ปตท.สผ. ถือหุ้นร้อยละ 44.4445บริษัท โททาล อีแอนด์พี ไทยแลนด์ ถือหุ้นร้อยละ 33.3333 และบริษัท บีจี เอเชีย แปซิฟิก พีทีอี จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 22.2222
นอกจากนี้ ปตท.สผ.ยังเดินหน้าขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยแหล่งน้ำลึก MD7 ในเมียนมาร์หารือกับโททาลแห่งฝรั่งเศสร่วมลงทุนสำรวจ ส่วนแหล่งก๊าซโมซัมบิก จะประกาศลงทุนขั้นสุดท้ายล่าช้า 1 ปี หรือเป็นปลายปีหน้า แต่ยังเชื่อมั่นจะจัดส่งแอลเอ็นจีให้แก่ประเทศไทยตามแผนเดิม คือ ใน 5-6 ปีข้างหน้า.-สำนักข่าวไทย