ก.ศึกษา 27 มี.ค.-คืบสอบโกงกองทุนเสมาฯ พบข้อมูลเพิ่มเพียบ ตั้งแต่ปี50-61 โกงทุกปี บางปีโกงร้อยเปอร์เซ็นต์ เตรียมเรียกตั้งแต่อดีตปลัดกระทรวงและอีก50คนที่เกี่ียวข้องชี้แจง 29 มี.ค.
นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตเปิดเผยว่า ขณะนี้การสืบข้อเท็จจริงมีความคืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 70 ล่าสุดพบข้อมูลว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ทักท้วงมายังกระทรวงศึกษาธิการเมื่อปี 2550 ว่าทำไมถึงไม่มีการประชุมคณะกรรมการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตและไม่มีการจ่ายเงินกองทุน ซึ่งจากการสืบข้อมูลเป็นจริง จึงไขข้อสงสัยที่เคยสันนิษฐานว่าทำไมปี 2551 ถึงมีการจ่ายเงินกองทุน 2 ครั้ง เพราะเป็นยอดของปี 2550 ที่มาอนุมัติในปี 2551 โดยเป็นการอนุมัติจากผู้มีอำนาจโดยไม่ผ่านกองคลัง อีกทั้งทำให้สามารถสืบทราบที่มาเงิน 30 ล้านบาทในปี 2550 / 2551และ2553 ที่ก่อนหน้านี้ไม่พบข้อมูล ในเบื้องต้น โดยพบว่าในปี 2550 มีปลอมแปลงเลขที่บัญชี 3 บัญชี ขณะที่ในปี 2551 มีการปลอม 14 บัญชี ซึ่งเป็นบัญชีเดิมที่ค้นพบใน 22 บัญชี ขณะเดียวกันพบว่าในปี 2551 และ 2553 พบการโอนเงินกองทุนเข้าบัญชีที่เปลี่ยนชื่อสถานศึกษา จากโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ เป็นวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เมื่อสืบข้อมูลพบว่าปีก่อนมีการเอาเลขที่บัญชีอื่นมาใส่แทนบัญชีวิทยาลัยพยาบาลจึงเป็นการผลักหนี้ไปทดแทน จึงคาดการณ์ได้ว่า อาจจะมีการทุจริตเงินจากบัญชีเหล่านี้เพิ่มเติม นอกเหนือจากบัญชีบุคคล 22 บัญชี จึงต้องกลับมาตรวจสอบการโอนเงินอย่างละเอียดอีกครั้งผ่านระบบเคทีบีออนไลน์ (KTB online)
นายอรรถพล กล่าวต่อว่า จากข้อมูลเบื้องต้น จึงเป็นที่ยืนยันได้ว่ามีการทุจริตเงินมากกว่า 88 ล้านอย่างแน่นอน แม้ยังสรุปไม่ได้ว่าเงิน 30 ล้านจะมีการทุจริตทั้งหมดหรือไม่ แต่ประเมินว่าเป็นการทุจริตร้อยละ 40 ของเงิน 30 ล้านบาทและผู้กระทำผิดยังเป็นคนเดิม นอกจากนี้ ตั้งแต่มีการตรวจสอบบัญชีเมื่อปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่พบว่าปีไหนไม่มีการทุจริต และมีแนวโน้มทุจริตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พบว่าบางปียังมีการทุจริตเงินแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ คือ ไม่มีเงินถูกส่งไปยังสถานศึกษาเลย ขณะเดียวกัน ยังพบพฤติการณ์การโอนเงินย้อนหลัง และโอนเงินหลายครั้งต่อปีจนผิดสังเกต รวมแล้วทั้งหมด 36 ครั้ง จากปกติที่ต้องโอนปีละ 1 ครั้ง
ส่วนอีกข้อสังเกตที่ค้นพบคือ หนังสือที่แจ้งไปยังโรงเรียนที่ได้รับจัดสรรกองทุน มีการพิมพ์เลขที่หนังสือไว้ล่วงหน้า ซึ่งผิดวิสัยที่หนังสือราชการไปยังหลายหน่วยงาน เนื้อหาต่างกันแต่เลขที่หนังสือเหมือนกัน
ขณะนี้โรงเรียนหลายแห่งที่ได้รับทุนการศึกษา แจ้งมาว่า สถานศึกษาไม่เคยทราบว่าได้รับเงินจากกองทุนดังกล่าวเลย จึงแสดงว่ากระทรวงศึกษาธิการไม่ได้แจ้งโรงเรียนจริง
นายอรรถพล กล่าวต่ออีกว่า ในวันที่ 29 มีนาคมนี้ ทางคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูลตั้งแต่ระดับอดีตปลัดกระทรวงและคนที่อยู่ในเส้นทางการเงินกว่า 50 คน เพื่อประกอบการพิจารณา นอกจากนี้ยังต้องประสานงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันการฟอกเงิน(ปปง.) ขอข้อมูลเพิ่มเติม เช่น เส้นทางการเงินในบัญชี.-สำนักข่าวไทย
