ม.เกษตรศาสตร์ 25 มี.ค.- หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า คสช.ควรรับฟังข้อเสนอกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะลดการใช้อำนาจพิเศษที่เป็นอุปสรรคต่อการยอมรับของประชาชน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561, ยุบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช). และให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปลี่ยนสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการ เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะเกิดการเลือกตั้งจริง และให้กองทัพหยุดสนับสนุน คสช.ในทุกมิติ ว่าเป็นเรื่องของกระแสความต้องการที่จะให้มีความชัดเจนในเรื่องของการเลือกตั้ง โดยปฏิเสธอำนาจพิเศษต่างๆ เพราะฉะนั้นคสช.ก็ควรรับฟังเพื่อประเมินถึงความต้องการของสังคมในเรื่องการเลือกตั้งและทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะลดการใช้อำนาจพิเศษต่างๆ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำให้คนยอมรับในกระบวนการทางการเมืองต่อไป ส่วนในทางกฎหมายก็ต้องไปถกเถียงกันว่าสามารถทำได้หรือไม่
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีความจำเป็นที่ คสช. จะคงสถานะตนเองอยู่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คสช.ดำรงอยู่ตามรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น หากให้ยุติบทบาทก็ต้องให้ลาออกทั้งคณะ ส่วนตัวเห็นว่า คสช.ต้องเข้าใจว่าที่ดำรงอยู่คือภารกิจพิเศษและต้องจำกัดอยู่เพียงแค่นั้น ปัจจุบัน คสช.ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการใช้อำนาจตามมาตรา 44 โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการการเลือกตั้ง องค์กรอิสระที่จัดการเลือกตั้ง ซึ่งจะเริ่มกระทบต่อความเชื่อมั่น อีกทั้งการใช้มาตรา 44 ในระบบบริหารทั้งหลายก็จะทำให้เกิดคำถามว่า 1 ปีจากนี้ หากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งจะไม่มีอำนาจตามมาตรา 44 คสช.ได้มีการปรับปรุงกลไกที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไว้แล้วหรือไม่
ส่วนการหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าอะไรบ้างที่พรรคการเมืองสามารถทำได้หรือทำไม่ได้ และถ้าหากทำมาแล้ว กกต. จะรับรองหรือไม่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะเป็นหัวใจหลักในการพูดคุยกับ กกต.ในวันที่ 28 มี.ค. ในส่วนของ คสช.เชื่อว่ารับทราบความเห็นของพรรคการเมืองอยู่แล้วเพียงแต่จะฟังแค่ไหนและตัดสินใจทำอะไรหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวถึงความพร้อมในการยืนยันสมาชิกพรรคการเมืองเดิม ในวันที่ 1 เมษายนนี้ ว่า พรรคได้ทำอย่างเต็มที่เพียงแต่ปัญหาตอนนี้คือยังไม่ได้รับความชัดเจนจาก กกต.และ คสช.ในบางเรื่องซึ่งสอบถามไปแล้วก็ไม่ได้ตอบกลับมา เช่น การใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ได้มากน้อยแค่ไหนในเรื่องของการยืนยันหลักฐานต่างๆ เทรนด์การส่งหนังสือทางไปรษณีย์โดยอำนวยความสะดวกด้วยการติดแสตมป์เพื่อให้ส่งกลับไปยังพรรค จะมองว่าเป็นการจูงใจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ตอบกลับมา ล่าสุดมีการพูดถึงเรื่องการเซ็นสำเนารับรองเอกสารต่างๆ เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน ทั้งที่รัฐพยายามพูดถึงการเข้าสู่ยุค 4.0 .- สำนักข่าวไทย