นครราชสีมา 22 มี.ค. – อธิบดีกรมทางหลวงลงพื้นที่ตรวจมอเตอร์เวย์บางปะอิน – นครราชสีมา เผยคืบหน้าร้อยละ 32 เร็วกว่าแผน มั่นใจเสร็จตามกำหนด ก.ค.63
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สาย บางปะอิน – นครราชสีมา ว่า โครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าร้อยละ 32 เร็วกว่าแผนที่ตั้งไว้ประมาณร้อยละ 5 มั่นใจว่าสามารถดำเนินการก่อสร้างเสร็จได้ตามกำหนดภายในเดือนกรกฎาคม 2563
นายธานินทร์ กล่าวว่า กรมทางหลวงมีนโยบายตรวจสอบสภาพความเรียบของผิวทางโครงการก่อสร้างสายทางดังกล่าว เพื่อเพิ่มคุณภาพผลงานการก่อสร้างให้มีความเรียบของผิวทางอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยไม่เพิ่มภาระงบประมาณในการก่อสร้างและโครงการก่อสร้างทางหลวงต้องได้รับการตรวจสอบสภาพความเรียบของผิวทางก่อนการตรวจรับงานจากสำนักวิเคราะห์และตรวจสอบ กรมทางหลวง สภาพความเรียบของผิวทางที่ได้รับการตรวจสอบต้องเป็นตามข้อกำหนด สำหรับผิวทางแอสฟัลท์คอนกรีต สภาพความเรียบของผิวทางต้องมีค่าดัชนีความขรุขระสากล ไม่เกิน 2.0 เมตร/กิโลเมตร สำหรับผิวทางคอนกรีต สภาพความเรียบของผิวทางต้องมีค่าดัชนีความขรุขระสากล ไม่เกิน 2.5 เมตร/กิโลเมตร ถ้าผิวหน้าของพื้นคอนกรีตตอนใดไม่สม่ำเสมอหรือไม่ได้มาตรฐานของกรมทางหลวงที่กำหนด ผู้รับจ้างจะต้องรื้อแผ่นพื้นคอนกรีตแผ่นนั้นยาวอย่างน้อย 3 เมตร ตลอดความกว้างและความหนาของแผ่นพื้นคอนกรีตแผ่นนั้นออกแล้วหล่อคอนกรีตให้ใหม่โดยให้มีรอยต่อก่อสร้างตามขวางตามแบบ ทั้งนี้ ผู้รับจ้างต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวด้วยว่า สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษา ในรูปแบบ PPP Gross Cost ของทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 (สายบางปะอิน-นครราชสีมา) และทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 (สายบางใหญ่-กาญจนบุรี) ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 มีมติเห็นชอบให้กรมทางหลวงดำเนินการนั้น กรมทางหลวงมีแผนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนเสร็จภายในปี 2561 ตามกำหนดการตั้งแต่เดือนมีนาคม ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนเดือนเมษายน ขายซองเอกสาร เดือนพฤษภาคม ,สิงหาคม เอกชนจัดทำเอกสารและยื่นข้อเสนอ, เดือนกันยายน – ตุลาคม ประเมินข้อเสนอ / เจรจาต่อรอง, เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ตรวจร่างสัญญาและเสนอขออนุมัติผลการคัดเลือก, เดือนมกราคม 2562 เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบและลงนามสัญญา
ทั้งนี้ เมื่อโครงการเสร็จจะสามารถเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งระหว่างภาคต่าง ๆ ของประเทศได้อย่างสมบูรณ์มีความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ แก้ไขปัญหาจราจรระหว่างภาค ส่งเสริมทั้งในภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยว ด้วยแนวเส้นทางที่สามารถรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าไปยังทั่วทุกภูมิภาค เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน.-สำนักข่าวไทย